วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2568

สทนช. ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ รับมือสถานการณ์คุณภาพน้ำแม่น้ำกก

 สทนช. ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ รับมือสถานการณ์คุณภาพน้ำแม่น้ำกก

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ตามที่มีรายงานการตรวจพบคุณภาพน้ำในแม่น้ำกก อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย มีปริมาณสารพิษในน้ำที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนนั้น สทนช. ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานภายในประเทศ รวมทั้งได้ประสานงานกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ผ่านกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง - ล้านช้าง (LMC) เพื่อสอบถามและติดตามสถานการณ์ รวมถึงผลการดำเนินการของฝ่ายสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในการหามาตรการรับมือที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ดังกล่าว


นอกจากนี้ สทนช. ยังได้ประสานกับสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission Secretariat: MRCS) เพื่อขอความร่วมมือในการสื่อสารกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในฐานะประเทศคู่เจรจา โดยขอให้สนับสนุนการตรวจสอบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงหาสาเหตุและแนวทางการดำเนินการภายในประเทศ ที่อาจช่วยลดผลกระทบข้ามพรมแดน โดยเฉพาะในประเด็นคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง


ทั้งนี้ สทนช. จะยังคงดำเนินการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในประเทศ เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุและกำหนดมาตรการรองรับที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชนและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำอย่างยั่งยืนต่อไป


สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

6 เมษายน 2568


กรมวิทยาศาสตร์บริการ ส่งเสริมความสามารถห้องปฏิบัติการในการทดสอบปริมาณสาระสำคัญในผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค ให้ได้มาตรฐานสากลเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่

 กรมวิทยาศาสตร์บริการ ส่งเสริมความสามารถห้องปฏิบัติการในการทดสอบปริมาณสาระสำคัญในผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค ให้ได้มาตรฐานสากลเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่

        วันที่ 27-28 มีนาคม 2568 กรมวิทยาศาสตร์บริการ โดยสถาบันพัฒนาเครือข่ายวิทยาศาสตร์บริการ เดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาหน่วยตรวจสอบและรับรองในประเทศให้ได้มาตรฐานเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ ได้จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การวิเคราะห์ทดสอบปริมาณสาระสำคัญในผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค (Disinfectants)” ณ ชั้น 2 อาคารห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง (SAL) กรมวิทยาศาสตร์บริการ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ให้สามารถวิเคราะห์ Active oxygen, Available chloride, Available iodine 


           การฝึกอบรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.อรพรรณ อภิรักษ์กานต์ และ ดร.ทิฆัมพร อุปลาบัติ จากสถาบันห้องปฏิบัติการอ้างอิงแห่งชาติ เป็นวิทยากร ถ่ายทอดความรู้และทักษะทางห้องปฏิบัติการให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมจากมหาวิทยาศิลปากร เกี่ยวกับการทดสอบสารเคมีในผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ตลาดในปัจจุบันมีคุณภาพมาตรฐานและปลอดภัยต่อการใช้งาน

         กรมวิทย์ฯ บริการ มุ่งมั่นพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์บริการ และการถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและความปลอดภัยของประชาชน ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และได้มาตรฐาน พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว

#กรมวิทยาศาสตร์บริการ #กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม #กระทรวงอว #กรมวิทย์ฯบริการ #DSS #MHESI

การอบรม : การเรียนรู้แบบมอนเตสซอรี่ (Montessori Approach) กับเด็กปฐมวัย เพื่อพัฒนาการศึกษาไทย ก้าวข้ามคุณภาพผู้เรียนสู่ระดับโลก

 การอบรม : การเรียนรู้แบบมอนเตสซอรี่ (Montessori Approach) กับเด็กปฐมวัย เพื่อพัฒนาการศึกษาไทย ก้าวข้ามคุณภาพผู้เรียนสู่ระดับโลก

โรงเรียนเอกชนคาทอลิก 12 แห่ง ร่วมมือกับสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) อบรมพัฒนาครูต้นแบบเพื่อนำร่องขับเคลื่อนการเรียนรู้แบบมอนเตสซอรี่กับเด็กปฐมวัย เพื่อพัฒนาด้านสติปัญญาของเด็กผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านทางประสาทสัมผัสด้านต่าง ๆ ของเด็ก


บาทหลวง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิสิทธิ์ กฤษเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนดรุณาราชบุรี และประธานฝ่ายอบรมศึกษาสังฆมณฑลราชบุรี พร้อมกับ บาทหลวงเดชา อาภรณ์รัตน์ หัวหน้าเขตการศึกษาที่ 6 อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ รวมถึงผู้บริหารโรงเรียนในเขตราชบุรีและเขต 6 อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ร่วมมือกันในการพัฒนาการเรียนการสอน โดยได้รับการสนับสนุนจาก ท่าน ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) ด้วยเห็นความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาของการศึกษาระดับปฐมวัย โดยจัดการอบรมการเรียนการสอนรูปแบบมอนเตสซอรี่ซึ่งจะเป็นรากฐานสู่การเรียนการสอน Active Learning พัฒนาให้ผู้เรียนเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง (hands-on activities) และเรียนรู้ตามความสนใจของตนเอง ครูผู้สอนมีบทบาทเป็นผู้สังเกตและให้คำแนะนำ เพื่อให้เด็กได้พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการทำงานร่วมกับผู้อื่น การผสมผสานระหว่างมอนเตสซอรี่และ Active Learning ช่วยให้เด็ก ๆ ได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การสื่อสาร และการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้เด็ก ๆ ประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นและในชีวิตจริง







เพื่อให้ครูปฐมวัยได้เตรียมความพร้อมสำหรับการจัดการเรียนรู้แบบมอนเตสซอรี่ในปีการศึกษา 2568 จึงจัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเรียนรู้แบบมอนเตสซอรี่ (Montessori Approach) กับเด็กปฐมวัย” จัดขึ้นระหว่างวันเสารที่ 5 – วันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2568 ณ หอประชุมเซนต์ฟรังซิส โรงเรียนดรุณาราชบุรี โดยครูปฐมวัยเข้าร่วม จำนวน 146 คน จาก 5 โรงเรียนในสังกัดสังฆมณฑลราชุรี และ 7 โรงเรียนในเขตการศึกษาที่ 6 อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้แก่ โรงเรียนดรุณาราชบุรี โรงเรียนเทพินทร์พิทยา โรงเรียนอนุชนศึกษา โรงเรียนวังตาลวิทยา โรงเรียนเรียนสารสาสน์วิเทศสมุทรสงคราม โรงเรียนราษฎร์บำรุงศิลป์อยุธยา โรงเรียนเซนต์แมรี่อยุธยา โรงเรียนแม่พระประจักษ์สุพรรณบุรี โรงเรียนเซนต์เทเรซาแสงทอง โรงเรียนเซนต์จอห์น บัปติสต์ โรงเรียนยอแซฟ อยุธยา และโรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์อู่ทอง


ครูปฐมวัยผู้ร่วมการอบรมครั้งนี้ จะเป็นกลไกสำคัญเพื่อนำร่องการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้แบบมอนเตสซอรี่ พัฒนาเด็กปฐมวัยให้เป็นนวตกรตัวจิ๋วสำหรับประเทศชาติและสังคมโลกต่อไป


วันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2568

กรมวิทย์ฯ บริการ เดินหน้าพัฒนาผู้ประเมิน เสริมองค์ความรู้ การควบคุมคุณภาพผลการวิเคราะห์ทดสอบด้านสิ่งแวดล้อม

 กรมวิทย์ฯ บริการ เดินหน้าพัฒนาผู้ประเมิน เสริมองค์ความรู้ การควบคุมคุณภาพผลการวิเคราะห์ทดสอบด้านสิ่งแวดล้อม

     เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยนางจันทรัตน์ วรสรรพวิทย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “การควบคุมคุณภาพผลการวิเคราะห์ทดสอบด้านสิ่งแวดล้อม” เพื่อส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งด้านวิชาการ ให้แก่ผู้ประเมิน คณะกรรมการพิจารณารับรองระบบงานห้องปฏิบัติการ และเจ้าหน้าที่ของสำนักฯ ให้มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถตรวจประเมินและดำเนินการให้การรับรองได้อย่างถูกต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล


     นางจันทรัตน์ วรสรรพวิทย์ ผอ.สบร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ห้องปฏิบัติการที่มีผลการทดสอบที่ถูกต้องน่าเชื่อถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหามลพิษในระบบนิเวศ เช่น มลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง ซึ่งการป้องกันและการแก้ไขต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การปฏิบัติงานของห้องปฏิบัติการจึงจำเป็นต้องมีการควบคุมคุณภาพผลการวิเคราะห์ทดสอบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และสร้างความเชื่อมั่นต่อผลการทดสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดและให้ผลการวัดที่น่าเชื่อถือ 


      การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นางดุษฎี มั่นความดี ผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมด้วย นางสาวจรีรัตน์ กุศลวิริยะวงศ์ จากกรมวิชาการเกษตร นายทวี อำพาพันธ์ จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และนางสาวดวงกมล เจริญวงศ์ จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในส่วนของการสร้างความมั่นใจในความใช้ได้ของผล (Ensuring the validity of results) และให้แนวทางในการปฏิบัติงานด้านการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ซึ่งการอบรมจัดขึ้นในวันที่ 31 มีนาคม – 1 เมษายน 2568 ณ ห้อง 519 ชั้น 5 อาคารสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ และระบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom มีผู้เข้าร่วมการอบรม จำนวนทั้งสิ้น 150 คน 


เลขาธิการ สทนช. เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 59 ณ เมืองวังเวียง สปป.ลาว

 เลขาธิการ สทนช. เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 59 ณ เมืองวังเวียง สปป.ลาว

ดร. สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะสมาชิกคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พร้อมด้วย นางพัชรวีร์ สุวรรณิก รองเลขาธิการ สทนช. นายวินัย วังพิมูล ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สทนช. และคณะผู้แทน สทนช. เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 59 (The 59th MRC Joint Steering Committee Meeting) เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ณ เมืองวังเวียง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมกับคณะกรรมการร่วมฯ จากประเทศสมาชิก ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม พร้อมด้วย นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Committee Secretariat: MRCS) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง





โดยที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าและร่วมพิจารณาในประเด็นสำคัญต่าง ๆ อาทิ การอนุมัติการแก้ไขคู่มือทรัพยากรบุคคลของ MRC เกี่ยวกับนโยบายการให้ความช่วยเหลือการศึกษาบุตร และรับทราบรายงานสถานะบุคลากรของ MRCS และสถานะทางการเงิน ความก้าวหน้าในการวางแผนลุ่มน้ำเชิงรุกระดับภูมิภาค การพัฒนาเครื่องมือพยากรณ์น้ำท่วมระยะกลางและระยะยาว รายงานสภาพอุตุ-อุทกวิทยาและสิ่งแวดล้อมของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง รายงานกระบวนการเสนอขอทุนสำหรับโครงการยกระดับการบริหารจัดการประมงข้ามพรมแดนในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) และรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการร่วมระหว่าง MRC และ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมชุมชนในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง




สำหรับคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Joint Committee) ประกอบด้วย ผู้แทนระดับไม่ต่ำกว่าอธิบดีของประเทศสมาชิกประเทศละ 1 คน มีการประชุมปีละ 2 ครั้ง ประธานคณะกรรมการร่วมมีวาระ 1 ปี หมุนเวียน ตามลำดับ 

โดยในปีนี้ เป็นครั้งที่ 59 ซึ่ง สปป.ลาว เป็นประธานคณะกรรมการร่วมฯ และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าว


สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

5 เมษายน 2568


วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2568

สมาคมเคมีฯ สพฐ. สช. จุฬาฯ และ Dow ลงนามความร่วมมือ​ เตรียมขยายผล “เคมีย่อส่วน” สู่โรงเรียนสพฐ.และเอกชนทั่วประเทศ

 สมาคมเคมีฯ สพฐ. สช. จุฬาฯ และ Dow ลงนามความร่วมมือ​ เตรียมขยายผล “เคมีย่อส่วน” สู่โรงเรียนสพฐ.และเอกชนทั่วประเทศ

 


กรุงเทพฯ - 4 เมษายน 2568 – สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “โครงการพัฒนาการเรียนการสอนการทดลองวิทยาศาสตร์ด้วยหลักการของปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนสำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษา” พร้อมร่วมมือกันขยายผลการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์แนวใหม่ที่ “ย่อส่วน” การทดลอง เพื่อ “ขยายโอกาส” ทางการศึกษา ให้นักเรียนได้ประสบการณ์การลงมือทำด้วยอุปกรณ์การทดลองขนาดเล็กที่ประหยัด ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนรัฐบาลสังกัด สพฐ. และ โรงเรียนเอกชนสังกัด สช. ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

 



โครงการนี้เป็นการขยายความร่วมมือในการต่อยอดความสำเร็จโครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” ซึ่ง Dow และ สมาคมเคมีฯ ได้ร่วมดำเนินงานมาครบ 10 ปี ในปีที่ผ่านมา โดยจะเพิ่มโอกาสให้ครูวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาในสังกัด สพฐ. และ สช. ได้เข้าอบรมและสามารถนำเทคนิคไปถ่ายทอดและประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนมากขึ้น เพื่อให้กับนักเรียนได้ใช้ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนในการทำการทดลองด้วยตนเอง ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีใจรักในการศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์ที่เป็นสาขาอาชีพที่ยังต้องการมากของประเทศในขณะนี้ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีความสามารถสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต โดยโครงการฯ ในส่วนขยายความร่วมมือนี้ตั้งเป้าจะจัดอบรมให้ครูในโรงเรียนสังกัดมากกว่า 1,000 คน

 


นายวิชาญ ตั้งเคียงศิริสิน ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า “Dow ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการศึกษาด้านสะเต็ม หรือ STEM Education ที่ประกอบด้วยสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในประเทศไทย เพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่จะคิดค้นนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในอนาคต การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์แนวใหม่นี้ จะช่วยให้โรงเรียนจำนวนมากสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่ใช้งบประมาณต่ำ มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูงได้อย่างรวดเร็ว เราจึงมีความชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ สพฐ. และ สช. เล็งเห็นความสำคัญของการทดลองแบบ “ย่อส่วน” เพื่อ “ขยายโอกาส” ทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยทั้งสองหน่วยงานจะเป็นกำลังสำคัญในการขยายผลซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับการพัฒนาบุคคลกรด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยในอนาคต”

 


ศาสตราจารย์ ดร.วุฒิชัย พาราสุข นายกสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า “สมาคมฯ เป็นผู้ริเริ่มในการนำเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนมาเผยแพร่ในโรงเรียนมัธยมศึกษาในประเทศไทย โดยได้ออกแบบหลักสูตรการฝึกอบรมและกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับ Dow ในการนำความรู้ความเข้าใจด้านความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมี หลักการเคมีกรีน และการประยุกต์ใช้การทดลองเคมีแบบย่อส่วน มาเสริมการเรียนการสอนในโรงเรียน ทำให้นักเรียนได้ทำการทดลองจริงด้วยตนเองอย่างปลอดภัย และได้สร้างเครือข่ายครูต้นแบบเคมีแบบย่อส่วน เพื่อทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและต่อยอดองค์ความรู้ได้มากขึ้น ครูต้นแบบจะทำหน้าที่เผยแพร่เทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนแก่เพื่อนครูที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมดังกล่าวได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ในความร่วมมือครั้งนี้ สมาคมฯ จะทำหน้าที่บริหารงานด้านวิชาการ จัดหาบุคลากรผู้ชำนาญที่เหมาะสมกับหลักสูตรฝึกอบรม และเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในการประเมินผลการเรียนการสอนตามแนวทางการสอนแบบใหม่ของโครงการฯ”

 

ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า “สพฐ. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ และได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ วิชาการ และเอกชน ขับเคลื่อนโครงการ ‘ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนสำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษา’ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการทดลองที่ปลอดภัย ประหยัด และมีประสิทธิภาพ โครงการนี้มุ่งพัฒนาทักษะผู้เรียนให้คิด วิเคราะห์ และลงมือปฏิบัติจริง พร้อมยกระดับคุณภาพครูและสถานศึกษาให้สามารถจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สพฐ. จะสนับสนุนการนิเทศ ติดตาม และประชาสัมพันธ์โครงการอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมให้เกิดต้นแบบโรงเรียนที่มีแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ เราต้องการจุดประกายให้นักเรียนรักวิทยาศาสตร์ และสร้างพื้นฐานที่มั่นคงให้การศึกษาไทยก้าวทันโลกอย่างยั่งยืน”

 


นายมณฑล ภาคสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวว่า “การเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้โรงเรียนเอกชนสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูงได้มากขึ้น สช. มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ และพร้อมที่จะสนับสนุนการพัฒนาครูและนักเรียนในโรงเรียนเอกชนให้มีความรู้และทักษะทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง”

 

ศาสตราจารย์ ดร.ประณัฐ โพธิยะราช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ภาควิชาเคมีได้ริเริ่มนำแนวคิดของการทดลองเคมีแบบย่อส่วนมาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ 2543 ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนของภาควิชาเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบัน มีการทดลองเคมีแบบย่อส่วนหลายเรื่อง ที่ได้นำมาใช้สอนในวิชาบริการสำหรับนิสิตสายวิทยาศาสตร์ชั้นปีที่ 1 จึงเป็นที่น่ายินดี ที่ได้เห็นการนำมาประยุกต์ใช้สอนในโรงเรียนมัธยมศึกษาอย่างทั่วถึง จะทำให้ลดความเหลื่อมล้ำด้านการสอนการทดลองวิทยาศาสตร์แก่นักเรียนในโรงเรียนเล็กและห่างไกล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล็งเห็นความสำคัญของโครงการนี้ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับการพัฒนาเยาวชนให้มีประสบการณ์ที่ดีในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เพื่อต่อยอดการเรียนในระดับที่สูงขึ้นไป ในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่เราได้ร่วมลงนามความร่วมมือ ซึ่งจะทำให้เราเข้ามาเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการเพื่อร่วมผลักดันโครงการดี ๆ ให้ไปถึงเด็กไทยทั่วประเทศต่อไป”

 


จากการดำเนินงานกว่า 10 ปี ของโครงการห้องเรียนเคมีดาว มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1,200 แห่ง อบรมคุณครูไปแล้วกว่า 2,100 คน มีนักเรียนที่ได้รับประโยชน์โดยตรงทั้งสิ้นกว่า 470,000 คน และในปีนี้ จะยังคงมีการจัดประกวดโครงงาน “ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน” DOW-CST Award เพื่อเป็นเวทีให้คุณครูและนักเรียนได้นำแนวคิดไปประยุกต์สร้างเป็นการทดลองใหม่ ๆ ด้วยวัสดุและทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเอง

 

สำหรับคุณครูและนักเรียนที่สนใจแนวทางการเรียนวิทยาศาสตร์ด้วย “ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน” สามารถเข้าชมข้อมูลได้ฟรีที่เว็บไซต์ http://www.DowChemistryClassroom.com 

 

#####

ท่านสามารถดาวน์โหลดข่าวประชาสัมพันธ์ รูปภาพ และข้อมูลเกี่ยวกับโครงการห้องเรียนเคมีดาวได้ที่ 

https://drive.google.com/drive/folders/1lcHRT_mMd68nyjLV4JeIG3CTJyAQCIEG?usp=sharing

หรือ สแกน QR code

  

ปฏิวัติขยะคอนโดเมือง!สถาบันสิ่งแวดล้อม – เดนมาร์ก – กทม. ผสานมือ แยกขยะคอนโด นำร่อง 2 เขต คลองเตย – วัฒนา หวังสร้างต้นแบบระดับประเทศ

 ปฏิวัติขยะคอนโดเมือง!สถาบันสิ่งแวดล้อม – เดนมาร์ก – กทม. ผสานมือ แยกขยะคอนโด นำร่อง 2 เขต คลองเตย – วัฒนา หวังสร้างต้นแบบระดับประเทศ


สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ร่วมกับ องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งเดนมาร์ก (DEPA) และ กรุงเทพมหานคร (BMA) Kick off  “โครงการนำร่องคัดแยกขยะครัวเรือนในคอนโดมิเนียมกรุงเทพมหานคร” (Pilot project for Household waste sorting in Bangkok Condominiums 2025) มุ่งหวังสร้างต้นแบบระดับประเทศ เฟสแรกนำร่อง 2 เขต คลองเตย – วัฒนา






ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ในปัจจุบันไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่มีพฤติกรรมการอยู่อาศัยจากบ้านเป็นคอนโดมิเนียมมากขึ้นด้วยหลายสาเหตุด้วยกัน ดังนั้นทางสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในฐานะองค์กรที่ขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรม ที่ปรับ เปลี่ยน พฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงได้เล็งเห็นความสำคัญในการเสนอแนวทางการจัดการขยะครัวเรือนในคอนโดมิเนียม จึงได้มีการนำเสนอ “โครงการนำร่องคัดแยกขยะครัวเรือนในคอนโดมิเนียม กรุงเทพมหานคร” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งเดนมาร์ก (DEPA) ภายใต้การดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกับสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตคลองเตย และสำนักงานเขตวัฒนา 

   

     

TEI มีบทบาทในการโครงการคือ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานทำการศึกษา ตั้งแต่การศึกษาข้อมูลการคัดแยกขยะจากกรณีศึกษาต่างประเทศ ในประเทศ และกรุงเทพมหานคร การศึกษาทบทวน และการจัด Workshop สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การจัดทำข้อตกลงกับผู้เก็บขยะและผู้รีไซเคิล การจัดซื้อและติดตั้งอุปกรณ์คัดแยกขยะ การพัฒนาศักยภาพผู้ดูแลอาคารและผู้อยู่อาศัย และการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน เป็นการรายงานความคืบหน้า แนวทาง และระเบียบปฏิบัติสำหรับการคัดแยกขยะ ไปจนถึงการลงมือปฏิบัติในพื้นที่คอนโดมิเนียมนำร่อง 5-20 แห่งในเขตคลองเตยและเขตวัฒนา และการติดตาม ประเมินผล พร้อมนำไปจัดทำเป็นรายงาน

 


นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “การร่วมมือกันในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญและสอดรับกับการดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมฯ (ฉบับใหม่) ซึ่งหากคอนโดมิเนียมที่เข้าร่วมโครงการนำร่องการแยกขยะ จะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายของพื้นที่อาคารสูง อีกทั้งยังเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่อาคาร นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัยที่ต้องการมีส่วนร่วมในการเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม”


ด้านนายมาร์ติน ชนีคล็อธ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนสถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กฯ  และ    นายเจนส์ นีทอฟต์ ราสมุสเซ่น ผู้จัดการโครงการความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ประเทศไทย องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งเดนมาร์ก เห็นพ้องต้องกันว่า “การพัฒนาการแยกขยะในตึกสูงในคอนโดมิเนียม จะครอบคลุมถึงขั้นตอนการติดตั้งถังขยะและภาชนะรองรับขยะแก่ผู้อยู่อาศัย และการพัฒนาระบบการคัดแยกขยะที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และโครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างโมเดลและคู่มือที่สามารถขยายผลได้สำหรับการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ ให้ข้อมูลสำหรับแนวทางการคัดแยกขยะระดับชาติ และให้ข้อเสนอแนะสำหรับการนำไปใช้ในวงกว้างทำซ้ำกับพื้นที่อื่น ๆ ในกรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง ทั้งในกรุงเทพมหานคร และภูมิภาคอาเซียน”

 



ทั้งนี้ โครงการนำร่องคัดแยกขยะครัวเรือนในคอนโดมิเนียมกรุงเทพมหานคร” คาดว่าจะเห็นผลสำเร็จภายในกลางปี 2569 ซึ่งการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้ง 3 องค์กรในครั้งนี้ สอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อนเชิงระดับนโยบายของประเทศ ด้านการจัดการขยะและขยะพลาสติกของประเทศนำไปสู่เป้าหมายการจัดการขยะอย่างยั่งยืน

###

สทนช. ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ รับมือสถานการณ์คุณภาพน้ำแม่น้ำกก

  สทนช. ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ รับมือสถานการณ์คุณภาพน้ำแม่น้ำกก ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)  เ...