วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“พิพัฒน์” เตรียมระดมช่างฝีมือ ช่วยน้ำท่วมภาคใต้ หลังฟื้นฟู อ.แม่สายสำเร็จ ให้ดำเนินกิจการได้ตามปกติ

  “พิพัฒน์” เตรียมระดมช่างฝีมือ ช่วยน้ำท่วมภาคใต้ หลังฟื้นฟู อ.แม่สายสำเร็จ ให้ดำเนินกิจการได้ตามปกติ

วันที่ 1 ธันวาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ผมพร้อมด้วยนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เรือเอก สาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจติดตาม ปิดโครงการการฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลด ตั้งแต่ทำความสะอาดล้างดินโคลนในโครงการจ้างงานเร่งด่วน จนถึง การซ่อมแซมระดมช่างไฟฟ้า ภาคเหนือ ซ่อมแซมระบบไฟฟ้าในอาคารบ้านเรือน เป็นขั้นตอน “เชียงรายโมเดล” ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนชาวอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย  ให้กลับมาทำงาน ดำเนินกิจการได้อย่างปกติ โดยมีนายนรศักดิ์ สุขสมบูรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพี่น้องประชาชนหมู่ที่ 7 อำเภอแม่สาย ร่วมตรวจเช็คความปลอดภัย และส่งมอบสถานประกอบกิจการ ให้ประชาชนต่อไป ณ บ้านเกาะทราย ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย





นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ที่ทางกระทรวงแรงงานได้มีการฟื้นฟูช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ออกมาตรการการช่วยเหลือที่สำเร็จ เป็น “เชียงรายโมเดล” ไม่ว่าจะเป็นการมอบถุงยังชีพ  การดำเนินโครงการจ้างงานเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพ รวมไปถึงระดมทีมช่างฝีมือ เช่น ซ่อมบ้าน ให้บริการซ่อมแซมระบบไฟฟ้า อุปกรณ์ประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นบริการจากกระทรวงแรงงานให้ประชาชนฟรี  ซึ่งขณะนี้ ได้รับทราบความเสียหายจากน้ำท่วม ของสถานประกอบกิจกรรม บ้านเรือนประชาชน ภาคใต้ในหลายจังหวัด  ซึ่งทางกระทรวงแรงงาน ได้ประสานสำนักงานแรงงานจังหวัด ส่งถุงยังชีพให้การช่วยเหลือเบื้องต้น ทั้งนี้ได้ประสานกับสถานประกอบกิจการ เพื่อแจ้งมาตรการการช่วยเหลือ ทั้งนายจ้าง และลูกจ้างในระหว่างที่ไม่สามารถทำงานได้  พร้อมทั้งเตรียมระดมช่างฝีมือ ในสังกัดกระทรวงแรงงานภาคใต้ให้ความช่วยเหลือ ประชาชนในพื้นที่ต่อไป หรือโทรสายด่วน 1506 






ด้านนายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกิจกรรมการออกหน่วยให้บริการซ่อมแซมระบบไฟฟ้าภายในอาคารบ้านเรือนผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ร่วมมือกับทีมช่างจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และจิตอาสาร่วมกันซ่อมแซมระบบไฟฟ้าในอาคารบ้านเรือนให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 123 หลังคาเรือน จนวันนี้ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย ประชาชนสามารถเข้าพักอาศัย และดำเนินกิจการได้เป็นปกติแล้ว การช่วยเหลือดังกล่าว สามารถลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบ้านเรือนของประชาชนที่พังเสียหายไปกับอุทกภัยได้ พร้อมทำงานเลี้ยงชีพตนเองได้ทันที วันนี้ได้ลงพื้นที่ เพื่อติดตามความคืบหน้า และส่งมอบสำนักงาน และที่อยู่อาศัยเสร็จสิ้นจากการซ่อมแซมระบบไฟฟ้าในอาคารบ้านเรือน ซ่อมรถจักรยานยนต์ และเปิดฝึกอบรมหลักสูตรการซ่อมรถจักรยานยนต์ การตัดเย็บเสื้อผ้า โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 20 เชียงรายเป็นผู้ดำเนินการ นอกจากนี้ได้พบปะประชาชนที่ได้รับการช่วยเหลือ อีก 6 คน ได้แก่ ศูนย์ปฏิบัติการชุดรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้าน (ชรบ.) บ้านเกาะทราย บ้านนางสาวแสง อิ่นแก้ว บ้านนางสาวพิมพร เจริญดี บ้านนายอุ่นแสง คำเงิน นายคนองเดช อินแสง และบ้านนางยุพา แสงสุรินทร์

“นภินทร” ยกทัพ พาณิชย์-สสว.ททท. ขึ้นดอยช้าง ช่วย MSME เร่งสร้างแบรนด์สินค้าชุมชน ดึงจุดขายจดสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพิ่มมูลค่า ผลักดันส่งออก

 “นภินทร” ยกทัพ พาณิชย์-สสว.ททท. ขึ้นดอยช้าง ช่วย MSME เร่งสร้างแบรนด์สินค้าชุมชน ดึงจุดขายจดสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพิ่มมูลค่า ผลักดันส่งออก



เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ณ หมู่บ้านดอยช้าง ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำทีมภาครัฐพบกับผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงราย ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ณ จังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย ประกอบด้วยกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พาณิชย์จังหวัดเชียงราย หอการค้าจังหวัด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสำนักงานการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องของจังหวัดเชียงราย 




นายนภินทร ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า “ วันนี้ผมได้นำทีมกระทรวงพาณิชย์รวมทั้งภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ชุมชน มาร่วมประชุมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ประกอบการเชียงราย ภายใต้โครงการพัฒนาต่อยอดสินค้าชุมชนในแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมให้ได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อสร้างแต้มต่อทางการแข่งขันเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าชุมชนเชียงราย จากการพูดคุยได้สรุปทั้งส่วนที่ผู้ประกอบการขอรับการสนับสนุน และส่วนที่ภาครัฐเองเตรียมพร้อมจะช่วยเหลือและต่อยอด โดยจะมีการพัฒนาผู้ประกอบการพร้อมกับการพัฒนาสินค้าชุมชน ซึ่งจะเห็นว่าผู้ประกอบการที่มาในวันนี้ มีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดีแล้ว ไม่ว่าจะเป็น กาแฟที่มีรางวัลจากการประกวดในต่างประเทศ เป็นใบการันตีว่าเป็นกาแฟที่ดีที่สุดระดับโลก ชา ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดที่ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปอย่างสับปะรดภูแล และเครื่องเงิน ซึ่งผมในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ก็ขอการันตีว่าผลิตภัณฑ์ของชุมชนดอยช้างและในจังหวัดเชียงรายมีชื่อเสียง โดยเฉพาะชาและกาแฟของดอยช้าง ที่มีชื่อเสียงระดับโลกแล้ว แต่ประเด็นต่อมา เราจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้อีกโดยการนำกรรมวิธีการผลิต รวมถึงแบรนด์ สัญลักษณ์ และ Packaging ให้ได้รับการคุ้มครองทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งภายใต้โครงการของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่มาลงพื้นที่ในวันนี้ก็จะเชิญผู้ประกอบการมาเป็นเครือข่ายในการต่อยอดสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์โดยใช้ทรัพย์สินทางปัญญา และสำหรับผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในด้านการส่งออก กระทรวงพาณิชย์เองจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายการตลาดที่จะหาตลาดต่างประเทศโดยใช้เครือข่ายของทูตพาณิชย์ที่มีอยู่ทั่วโลกเพื่อหาตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ของดอยช้าง



นายนภินทร กล่าวเพิ่มเติมว่า ”ในส่วนของสินค้าชุมชน เป็นสินค้าและบริการในชุมชนท้องถิ่นดอยช้างของไทย มีเอกลักษณ์โดดเด่นและมีศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เมื่อสินค้ามีความพร้อมแล้วเราก็ต้องมาดูตลาดที่รองรับ ปัจจุบันช่องทางการตลาดเป็นช่องทางทางออนไลน์ถึง 70% เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัวเพื่อใช้ช่องทางการออนไลน์ให้มากขึ้นโดยกระทรวงเองมีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้ใช้ช่องทางออนไลน์ในการค้าขายสินค้าเพื่อให้มีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น





การส่งเสริมการค้าออนไลน์ ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าก็มีการจัดกิจกรรมดำเนินการตั้งแต่พื้นฐานเพื่อให้ผู้ประกอบการได้รู้จักการค้าออนไลน์ รวมถึงให้ผู้ประกอบการมีการพัฒนาตนเองด้านการค้าออนไลน์ด้วยการอบรมทักษะการขายออนไลน์ การพัฒนาเรื่องของสินค้าได้มีการร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้มีการสร้างแบรนด์ ได้รับการยอมรับและสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้บริโภคในตลาดสินค้าออนไลน์ได้ในขณะเดียวกันชุมชนก็ต้องมีการพัฒนาตลาดชุมชน ปกติขายได้ไม่เยอะก็ต้องพึ่งช่องทางผ่านออนไลน์ก็มีการพัฒนาชุมชนด้านการค้าออนไลน์ได้แก่ Digital Village ซึ่งปัจจุบันเรามีถึง 96 ชุมชนทั่วประเทศในจังหวัดเชียงราย และจะขยายให้มากขึ้น






ท้ายนี้ ผมขอเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวเยี่ยมชมวัฒนธรรมของภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเพิ่งจะผ่านวิกฤติอุทกภัยมาแต่ในขณะนี้ด้วยความร่วมมือร่วมใจของทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีการปรับปรุงพื้นที่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเรียบร้อยแล้ว สำหรับ ใครที่มองหาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อมาสัมผัสอากาศหนาวในช่วงปลายปีของทางภาคเหนือ ผมขอฝากเชียงราย เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีทั้งธรรมชาติและวัฒนธรรมของชนเผ่าชาวต่างๆให้ท่านได้สัมผัสจึงขอเชิญชวนทุกท่านมาเที่ยวในจังหวัดเชียงรายและอย่าลืมอุดหนุนสินค้าชุมชนเพื่อเป็นของที่ระลึกของฝากติดไม้ติดมือด้วยครับ” นายนภินทร กล่าว


กรมทางหลวงเร่งเคลียร์พื้นที่เหตุโครงสร้างเหล็ก พร้อมเปิดช่องทางพิเศษวันนี้ เพื่อบรรเทาปัญหาจราจรติดขัด พร้อมเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บเต็มที่ ผู้บาดเจ็บบางส่วนกลับบ้านได้แล้ว

 กรมทางหลวงเร่งเคลียร์พื้นที่เหตุโครงสร้างเหล็ก พร้อมเปิดช่องทางพิเศษวันนี้ เพื่อบรรเทาปัญหาจราจรติดขัด พร้อมเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บเต็มที่ ผู้บาดเจ็บบางส่วนกลับบ้านได้แล้ว




นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง ลงพื้นที่กำกับและติดตามการเคลียร์พื้นที่หลังเกิดเหตุโครงเหล็กติดตั้งสะพานของโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ M82 ร่วงหล่นบนถนนพระราม 2  โดยความคืบหน้าล่าสุด เจ้าหน้าที่ได้เร่งทำงานอย่างเต็มที่ในการเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนของสะพานที่หล่นอยู่บนพื้น ถ.พระราม 2 ออกจากพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ยังคงเหลือโครงเหล็กติดตั้งสะพานที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งต้องดำเนินการเคลียร์พื้นที่อย่างระมัดระวัง

โดยวิศวกรใหญ่กรมทางหลวง พร้อมด้วยทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ สภาวิศวกร และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ได้ใช้โดรนขึ้นบินเพื่อตรวจสอบความเสียหายของโครงสร้างเหล็กโดยละเอียด และจัดทำข้อมูลในการกำหนดขั้นตอนการเคลื่อนย้ายโครงเหล็กติดตั้งสะพาน ดังนี้ 

•ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดบริเวณตอม่อและโครงสร้างสะพานเพื่อเฝ้าระวังการเคลื่อนตัวเพิ่มเติมและลดโอกาสการเกิดการพังทลายต่อเนื่อง

•ดำเนินการเคลียร์พื้นที่ด้านล่างของโครงเหล็กติดตั้งสะพานเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ เครื่องจักรต่างๆ ที่ใช้ในการรื้อย้ายโครงเหล็กที่เสียหาย พร้อมทั้งชุดอุปกรณ์ Safety ให้มีความพร้อมก่อนดำเนินงาน เนื่องจากโครงสร้างเหล็กส่วนนี้มีขนาดใหญ่ และน้ำหนักมาก โดยยึดความปลอดภัยในการทำงานป้องการเกิดเหตุซ้อน

•ดำเนินการจัดเตรียมพื้นที่ทางเบี่ยงระหว่างการรื้อย้าย (Reversible Lane) เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจร

•ดำเนินการรื้อและเคลื่อนย้ายโครงเหล็กที่เสียหายด้านซ้ายทางลงจากตอม่อสะพาน

•ดำเนินการปลดก้อนคอนกรีตและย้ายโครงเหล็กที่อาจมีผลกระทบด้านขวาทางกลับสู่ตำแหน่งที่ปลอดภัยเพื่อการตรวจสอบอย่างละเอียด


โดยขั้นตอนทั้งหมดนี้ จะดำเนินการ

ในกรอบเวลาที่กำหนดใว้ คือ 14 วัน 


ในระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว แขวงทางหลวงสมุทรสาคร ได้เตรียมแผนการบริหารจัดการจราจรเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน โดยจะเปิดช่องทางพิเศษบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ระหว่าง กม.20+900 (บริเวณตลาดมหาชัยเมืองใหม่) ถึง กม.21+800 (พื้นที่ ต.คอกกระบือ อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร) ตั้งแต่วันนี้ 1 ธันวาคม 2567 เวลา 07.00 น. – 21.00 น. เพื่อระบายการจราจรและบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพระราม 2 จนกว่าจะแล้วเสร็จภารกิจและคืนผิวจราจรให้แก่ประชาชน โดยมีเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงและเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่คอยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้เส้นทางอย่างเต็มที่

สำหรับรายงานผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 6 ราย เป็นบุคคลสัญชาติไทย 2 ราย และสัญชาติพม่า 4 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บจำนวน 9 ราย ขณะนี้กำลังรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 6 ราย และกลับบ้านแล้ว 3 ราย หลังจากได้รับการประเมินด้านสุขภาพความแข็งแรงจากแพทย์


กรมทางหลวงขออภัยในความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้เส้นทาง และขอความร่วมมือในการหลีกเลี่ยงเส้นทางบริเวณดังกล่าวในช่วงเวลานี้ ทั้งนี้ กรมทางหลวงจะเร่งดำเนินการเคลียร์พื้นที่และฟื้นฟูสภาพการจราจรให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งยืนยันว่าจะดำเนินการทุกอย่างด้วยความระมัดระวัง เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและเจ้าหน้าที่ทุกคน หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วนกรมทางหลวง 1586 (โทรฟรีทุกเครือข่าย 24 ชั่วโมง)

"รมว.เกษตรฯ หนุนหม่อนไหมไทยสู่ความยั่งยืน เดินหน้าโมเดล BCG ตอบโจทย์ตลาด-เพิ่มรายได้เกษตรกร"

  "รมว.เกษตรฯ หนุนหม่อนไหมไทยสู่ความยั่งยืน เดินหน้าโมเดล BCG ตอบโจทย์ตลาด-เพิ่มรายได้เกษตรกร"


          "วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.40 น. นายนวนิตย์ พลเคน อธิบดีกรมหม่อนไหม พร้อมด้วยนายวัชรพงษ์ แก้วหอม รองอธิบดีกรมหม่อนไหม นายศรัญญู พูลลาภ รองอธิบดีกรมหม่อนไหม  พร้อมด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ กรมหม่อนไหมจากทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ร่วมต้อนรับคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการติดตามผลการดำเนินงานตามแนวนโยบาย "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" ในอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ณ บริษัท เจ ที ซิลค์  ฟาร์ม จำกัด ตำบลห้วยทราย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

          ทั้งนี้ นายฮิโรโตะ เอกามิ ประธานกรรมการบริษัท เจ.ที. ซิลค์ จำกัด ได้กล่าวต้อนรับและรายงานถึงประวัติความเป็นมาในการจัดตั้งบริษัท และการนำนวัตกรรมมาใช้ในการเพิ่มมูลค่ารังไหมสู่สารสกัดโปรตีน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องสำอางจากธรรมชาติ












          จากนั้น ศาสตราจารย์ ดร. นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบนโยบายให้กับผู้ปฎิบัติงานในพื้นที่ และพร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินงานของกรมหม่อนไหม เพื่อให้เกษตรกรมีผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีรายได้ที่ยั่งยืน สามารถเป็นอาชีพที่สร้างรายได้หลักหรือรายได้เสริมสำหรับเกษตรกรได้ ซึ่งในปัจจุบันตลาดมีความต้องการรังไหม 5,000 ตันต่อปี แต่ประเทศไทยสามารถผลิตรังไหมได้ประมาณ 2,000 ตันต่อปี ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงเห็นควรเร่งดำเนินการส่งเสริมอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในประเทศให้เพิ่มขึ้น โดยบูรณาการร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงการนำโมเดล BCG มาใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งส่งเสริมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานและสามารถนำมาแปรรูปเป็นสินค้าทางการเกษตรที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างยั่งยืนต่อไป