วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

อธิบดีกรมวิทย์ ฯ บริการ อว. ได้รับการคัดเลือก “พ่อตัวอย่างแห่งชาติ” เนื่องในงานวันพ่อแห่งชาติ ประจำปี 2567

 อธิบดีกรมวิทย์ ฯ บริการ อว. ได้รับการคัดเลือก “พ่อตัวอย่างแห่งชาติ” เนื่องในงานวันพ่อแห่งชาติ ประจำปี 2567

    

ตามหนังสือสมาคมฯคัดเลือก “พ่อตัวอย่างแห่งชาติ” เรียนว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์มอบเกียรติบัตรพ่อตัวอย่างแห่งชาติ ประจำปี 2567 ในงานวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2567 โดยนายแพทย์ รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  เข้ารับรางวัลเกียรติบัตร “พ่อตัวอย่างแห่งชาติ”  ประจำปี 2567 ดังกล่าว ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้อาสาสมัคร ช่วยการศึกษาและคัดเลือกพ่อตัวอย่างแห่งชาติ ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชัน  เซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร เพื่อเทิดพระเกียรติและแสดงความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และยกย่องสรรเสริญบุคคลซึ่งเป็น     พ่อที่ดีสมควรได้รับเกียรติเป็นพ่อตัวอย่างแห่งชาติ  รวมถึงบุคคลและบิดาผู้มีชื่อเสียงร่วมรับเกียรติบัตรในครั้งนี้ด้วย


นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ เป็นบุตรนายวิญญูและนางอุไรวรรณ กิจผาติ สมรสกับ ผศ.ดร.ภญ.วรวรรณ กิจผาติ อาจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีบุตรสาว 1 คน ได้แก่ แพทย์หญิงศศิชา กิจผาติ แพทย์ประจำบ้าน สาขาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

   


นายแพทย์รุ่งเรือง ฯ เข้าศึกษาคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระหว่างเป็นนักศึกษาแพทย์ได้รับรางวัลนักศึกษาแพทย์ดีเด่น และรางวัลนักศึกษาตัวอย่างด้านบำเพ็ญประโยชน์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อสำเร็จการศึกษาปี พ.ศ. 2537 ได้เข้ารับราชการตำรวจที่งานพิสูจน์หลักฐานฯ สถาบันนิติเวชวิทยา กรมตํารวจ ในตำแหน่ง นพ.โท (ยศ ร้อยตำรวจเอก นพ.โท สารวัตร พิสูจน์หลักฐานฯ)

           

ในปี พ.ศ. 2537 - 2540 ได้ปฏิบัติราชการตำรวจด้วยความอุทิศตน ทุ่มเท คุณหมอได้ทำคดีสำคัญระดับชาติและนานาชาติ สามารถพิสูจน์หลักฐานทางการแพทย์ ส่งผลให้ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีและได้รับการลงโทษประหารชีวิต เช่น คดีฆ่าข่มขืนเด็กหญิงอายุ 5 ขวบ คดีฆาตกรต่อเนื่องในหลายประเทศ แต่การรวบรวมพยานหลักฐานในประเทศไทยส่งผลให้ศาลอาญาประเทศสิงคโปร์ตัดสินประหารชีวิตฆาตกร ได้รับรางวัลตำรวจดีเด่นในการปฏิบัติราชการ จากสถานทูตแคนาดา จากกรมตํารวจ ประเทศสิงคโปร์ และตำแหน่งพยานแพทย์ผู้เชี่ยวชาญฯ ศาลอาญา ประเทศสิงคโปร์ ปี พ.ศ 2540 เข้ารับราชการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และศึกษาต่อแพทย์ประจำบ้านด้านระบาดวิทยาภาคสนาม (FETP) คุณหมอได้รับรางวัลบุคลากรดีเด่นจากการปฏิบัติราชการ รางวัล “คนดีศรีกรม” จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีผลงานสำคัญการสอบสวนโรค และผ่าพิสูจน์เก็บหลักฐานศพผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกที่เป็นการติดต่อจากคนสู่คน ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นรายแรกของโลก ข้อมูลการพิสูจน์ส่งผลให้ รัฐบาลในขณะนั้นปรับเปลี่ยนนโยบายและมาตรการในการควบคุมไข้หวัดนกอย่างเข้มข้นเพื่อควบคุมการระบาดใหญ่ จนประสบความสําเร็จ 

            

ได้รับรางวัลพัฒนาระบบราชการและคุณภาพการให้บริการประชาชนระดับชาติ ในเรื่องการพัฒนาระบบประสานงานการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก และโรคติดต่ออุบัติใหม่ทางห้องปฏิบัติการ จาก สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งผลงานเป็นส่วนสําคัญส่งผลให้เกิดความสําเร็จในการ ควบคุมการะบาดของโรคไข้หวัดนกขณะนั้น (ปี พ.ศ. 2546 ถึง 2552) และพัฒนาระบบเป็นจนเป็นต้นแบบระบบห้องปฏิบัติการในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในปัจจุบัน ได้รับยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ

             

ปี พ.ศ. 2552-2561 ได้ดํารงตําแหน่งผู้บริหารระดับผู้อํานวยการในหน่วยงาน สําคัญของกรมควบคุมโรค อาทิ เช่น ผู้อํานวยการสํานักโรคติดต่ออุบัติใหม่ ผู้อำนวยการสํานักโรคติดต่อทั่วไป ผู้อำนวยการกองป้องกันควบคุมโรคด้วยวัคซีน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง 

             

ปี พ.ศ. 2562-2566 ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่สำคัญ ได้แก่ (1) โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (2) หัวหน้าสำนักวิชาการสาธารณสุข (3) ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กระทรวงสาธารณสุข และ (4) รองหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงสาธารณสุข

            - ปัจจุบัน อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

ผลงานโดดเด่นสําคัญ เช่น 

            

- การจัดทําและขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ซึ่งเป็นการวางรากฐานการรับมือโรคติดต่ออุบัติใหม่ เช่น โรคไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ โรคเมอร์ส โรคโควิด 19 ในปัจจุบัน

            

- การจัดทําและขับเคลื่อน แผนยุทธศาสตร์ ทศวรรษกําจัดพยาธิใบไม้ในตับและมะเร็งท่อน้ําดี ส่งผลให้การแก้ไขและลดปัญหาโรคมะเร็งท่อน้ําดีอย่างเป็นรูปธรรม 

            

- การพัฒนาระบบด่านควบคุมโรคติดต่อ 68 แห่งทั่วประเทศ 

            

- การพัฒนาและขับเคลื่อนในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2556 ถึง 2559 ส่งผลให้เกิดความสำเร็จในการยอมรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ การบรรจุวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกและโรต้าไวรัสในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค 

            

- เป็นผู้รับผิดชอบ “โครงการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ 22 ล้านเข็มเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ส่งผลให้สามารถควบคุมโรคคอตีบประสพความสำเร็จ ไม่เป็นปัญหาในปัจจุบัน 

            

- ได้ปฏิบัติราชการเพื่อสนับสนุนโครงการพระราชดําริฯ การควบคุมโรคในถิ่นทุรกันดาร


ปี พ.ศ. 2562 ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดํารงตําแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ระดับ 10) ที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุข เป็นและปฎิบัติหน้าที่ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบหน่วยงานสำคัญ เช่น สํานักวิชาการสาธารณสุข ศูนย์บริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต IHPP, HITAP 

           

- ดำรงตำแหน่งโฆษกกระทรวงสาธารณสุขซึ่งได้รับการยอมรับจากสื่อมวลชนและประชาชน โดยเฉพาะการออกมาชี้แจงตอบโต้สถานการณ์ จนได้รับการยอมรับว่าเป็นโฆษกกระทรวงสาธารณสุขที่ดีสุดท่านหนึ่ง 

           

- รับผิดชอบศูนย์บริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีการพัฒนาระบบในการดูแลประชาชน และทำหน้าที่เจรจา ควบคุมสถานการณ์การประท้วง การรับเรื่องร้องทุกข์ ซึ่งได้รับการยอมรับทั้งจากผู้มาร้องทุกข์และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข

           

- ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ MIU : MOPH Intelligence Unit กระทรวงสาธารณสุข ในจัดทําข้อเสนอเชิงนโยบายยุทธศาสตร์และมาตรการ ต่อผู้บริหารระดับสูง มีผลงานสําคัญในการรับมือสถานการณ์ และควบคุมโรคโควิด 19 เช่น 

          

- การปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ พัฒนาต้นแบบหน่วยปฏิบัติการเชิงรุก CCRT (Covid 19 Comprehensive Response Team) ทั้งการดูแลผู้ป่วยและส่งต่อ การให้วัคซีนโควิดเชิงรุกในพื้นที่เป็นครั้งแรกของประเทศ 

          

- การสร้างการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชนในระดับพื้นที่ต้นแบบ ส่งผลให้เกิด ความสําเร็จในการควบคุมสถานการณ์ เริ่มจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขยายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ 

          

ปี พ.ศ. 2567 ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้บริหาร ที่มีภาวะผู้นำและทักษะการบริหารที่สูงมาก ใช้เวลาเพียง 8 เดือน ได้พัฒนาปฏิรูปองค์กร กรมวิทยาศาสตร์บริการ จนมีผลงานโดดเด่นของกระทรวง อว. เช่น การขยายขยายการบริการสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเป็น “ศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วม” สร้างความร่วมมือกับสำนักคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และสามารถ เปิด ศูนย์ให้คำปรึกษาและบริการร่วมอย. & อว. ประชาชนสามารถรับบริการได้ที่กระทรวง อว. เช่นเดียวกับการไปรับบริการที่ อย. จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการ DSS เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ และลงปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ในการนำวิทยาศาสตร์เพื่อมาค้นหาคำตอบจากปัญหาต่างๆ และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายหรือมาตรการเพื่อป้องกันแก้ไขต่อไป


นอกจากนี้ยังมีผลงานโดดเด่น  ในการนำวิทยาศาสตร์สู่การดูแลประชาชน เช่น ขับเคลื่อนโครงการน้ำดื่มน้ำใช้ปลอดภัยทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล การปฏิรูประบบราชการให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ มีประสิทธิภาพ ทันสมัย เช่น การจัดตั้งสถาบันระดับชาติ 6 สถาบัน การเปิดสำนักวิทยวิทยาศาสตร์บริการเขต และศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วมครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการไทย ให้อยู่ในอันดับ 1 ใน 10 ของโลก เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ดูแลสังคมสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตประชาชน รวมถึงเน้นการลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน นำปัญหากลับมาวิเคราะห์แก้ไขด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม นพ.รุ่งเรืองฯ เป็นผู้มีจิตใจเมตตา เป็นผู้นำที่ดูแลบุคลากรทุกระดับ จนได้รับการยอมรับจากทุกหน่วยงานที่เป็นผู้บริหาร 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ จัดพิธีมอบทุนพระราชทาน​ ช่วยเหลือการศึกษาเด็กยากจน ประจำปี 2567

  สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ  จัดพิธีมอบทุนพระราชทาน​ ช่วยเหลือการศึกษาเด็กยากจน ประจำปี  2567 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชิ...