รัฐมนตรี “ศุภมาส” นำวิทยาศาสตร์ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ให้กรมวิทย์ฯ บริการร่วมมือทุกภาคส่วนทำให้ทุกพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารทั่วประเทศ “มีน้ำดื่มสะอาดปลอดภัย”
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตนมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนและเด็กๆในพื้นที่ห่างไกลทุรกันการในเรื่องคุณภาพชีวิต และน้ำดื่มน้ำใช้ที่ไม่มีคุณภาพและความปลอดภัย โดยกระทรวง อว. มีนโยบายเน้นย้ำให้นำผลงานวิจัย นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ตรงความต้องการและปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน พร้อมทั้งการพัฒนากำลังคนเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ตนได้มอบหมาย กรมวิทยาศาสตร์บริการ ขับเคลื่อนภารกิจที่สอดคล้องกับนโยบายฯ เพื่อให้บริการดูแลประชาชนเป็นอย่างดี ด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เข้าแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนทั่วทุกภูมิภาคโดยเฉพาะในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลที่มีปัญหาน้ำดื่ม น้ำใช้ไม่ได้คุณภาพและไม่ปลอดภัย เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและเด็ก ๆ จะได้มีน้ำดื่มที่สะอาดมีคุณภาพและปลอดภัย ประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำดื่ม และตั้งได้เป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2569 ทุกพื้นที่ของประเทศไทยจะมีน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาดและปลอดภัย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล
กรมวิทย์ฯ บริการ เป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการปรับปรุงคุณภาพน้ำดิบเพื่อการอุปโภค-บริโภค และมีศักยภาพในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้หน่วยงานเครือข่ายมากว่า 20 ปี ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ได้ดำเนินการวิจัยพัฒนาและติดตั้งเครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพสูงราคาถูกมาก สามารถผลิตได้เองในพื้นที่ จนประสบความสำเร็จสามารถนำไปใช้ได้จริงเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและนานาชาติ โดยให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเครื่องกรองน้ำและการบำรุงรักษาให้แก่ครู เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบุคลากรทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคมที่ดีขึ้นให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชน
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. กล่าวว่า กรมวิทย์ฯ บริการ เป็นหน่วยงานหลักด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในทุกด้าน โดยเฉพาะปัญหาน้ำดื่มน้ำใช้ที่ไม่ได้คุณภาพและความปลอดภัยในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล ขณะนี้ กรมวิทย์ฯ บริการได้ร่วมมือกับกรมอนามัย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่่ รวมถึงองค์กรปกครองท้องถิ่น เช่น อบจ. เทศบาล อบต. เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมย์ร่วมกันว่า “ปัญหาเรื่องน้ำบริโภคที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์คุณภาพส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของเด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ จะต้องหมดไปและได้รับการแก้ไขปัญหาเพืาอให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี พ.ศ. 2569” ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในการพัฒนาและจัดการองค์ความรู้ การบริหารจัดการน้ำอุปโภคและน้ำบริโภค การดูแลระบบ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการพัฒนาระบบบริหารจัดการคุณภาพน้ำอุปโภคและบริโภคแก่โรงเรียนและชุมชนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่โครงการพระราชดำริและโครงการเฉลิมพระเกียรติ และพื้นที่ในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ ตนได้เน้นย้ำให้ถ่ายทอดความรู้แก่บุคลากรในพื้นที่เพื่อให้เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน พึ่งตนเองได้ นอกจากนี้ ได้สั่งการให้มีการลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ และมอบหมายให้ “สถาบันวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีชุมชน” จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “หลักสูตรการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำบริโภคยั่งยืน” ให้แก่บุคลากรภายในหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ ให้มีความรู้เกี่ยวกับการผลิตเครื่องกรองน้ำ การติดตั้งและการบำรุงรักษาเครื่องกรองน้ำด้วยตนเอง
อธิบดีกรมวิทย์ฯ บริการ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อการดำเนินการบรรลุเป้าหมายจะส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งยังมีสุขภาพที่ดี มีความปลอดภัย และที่สำคัญด้วยพลังความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่ได้ลงปฎิบัติงานจริงในพื้นที่จะไม่เพียงแต่แก้ไขปัญหาน้ำดื่มเท่านั้น แต่เมื่อพบปัญหาอื่น ๆ ก็จะนำมาช่วยกันแก้ไขปัญหาดูแลพี่น้องประชาชน ด้วยหลักการ “เรานำวิทยาศาสตร์สู่การดูแลประชาชน” ซึ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนพึ่งตนเองได้ ตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น