ใกล้เทศกาลลอยกระทง ตลาดใบตองคึกคัก แนะเกษตรกรวางแผน ให้คุ้มค่าการลงทุน
จากข้อมูลสถิติกระทงที่ประชาชนนำมาใช้ในเทศกาลลอยกระทง เมื่อปี 2566 ของสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร พบว่า เป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ หรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่าย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น หยวกกล้วย ใบตอง และอื่นๆ จำนวนกว่า 610,000 ใบ คิดเป็นร้อยละ 96.74 สอดคล้องกับความต้องการใช้ใบตองเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นช่วงที่ใบตองจะปรับราคาสูงขึ้นตาม
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ใบตองนับเป็นอีกหนึ่งผลิตผลของการเกษตรที่มีอนาคต เป็นที่นิยมใช้ในประเทศ มีการใช้ประโยชน์มากในธุรกิจอาหาร ใบตองกล้วยตานีเป็นใบตองที่มีคุณภาพดี เป็นวัสดุจากธรรมชาติที่ได้รับความนิยม ย่อยสลายง่ายไม่ทำลาย สภาพแวดล้อม ใช้สำหรับบรรจุอาหาร ตกแต่งภาชนะ ทำกระทง ใช้ประกอบกิจกรรมในงานมงคล เช่น ทำบายศรี หรือบุญประเพณีต่างๆ ใบตองที่นิยมมาจากกล้วยตานีและกล้วยน้ำว้า สำหรับใบตองจากกล้วยตานีจะได้รับความนิยมมากกว่า เนื่องจากจะมีลักษณะใบที่กว้าง เหนียว ทนทาน สีเขียวสดน่าใช้ ไม่เหี่ยวหรือแตกง่าย สามารถเก็บไว้ได้นาน จากฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร มีพื้นที่ปลูกกล้วยตานี ประมาณ 6,200 ไร่ มีเกษตรกรกว่า 1,500 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกมากที่สุดในจังหวัดสุโขทัย พื้นที่ไม่น้อยกว่า 5,500 ไร่ ใบตองส่วนใหญ่ส่งขายในประเทศ ได้แก่ ปากคลองตลาด ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ภูมิภาคต่างๆ ทั่วไทย เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ทั้งภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ โดยในปี 2566 มูลค่าการส่งออกใบตองกว่า 41 ล้านบาท ปัจจุบันราคาขาย ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 2567 ประมาณ 40 – 70 บาท/กก. จำหน่ายในรูปใบตองสด ใบตองสดแช่แข็ง และใบตองตากแห้ง เป็นต้น แนวทางการขับเคลื่อนคือการพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐาน GAP รวมถึงส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตโดยใช้เทคโนโลยี เช่น เครื่องขึ้นรูปภาชนะด้วยความร้อนเพื่อเพิ่มมูลค่าและเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น กลุ่มแปลงใหญ่ใบตองกล้วยตานี ตำบลคลองกระจง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย จำหน่ายใบตองสด 9-10 บาท/กิโลกรัม และสามารถแปรรูปเพื่อยกระดับมูลค่าของผลิตภัณฑ์และจำหน่ายได้สูงขึ้น เช่น ส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากใบตอง จำหน่ายภายใต้แบรนด์ “ใบตองคลองกระจง” เช่น ปอเส้นกาบกล้วยตานี/เชือกกล้วย ราคา 30 บาท/มัด ภาชนะจากใบตองที่ใช้ได้ทั้งอุณหภูมิร้อนและเย็น และเข้าไมโครเวฟได้ราคาเฉลี่ย 3 บาท/ใบและในช่วงเทศกาลลอยกระทงทางกลุ่มแปลงใหญ่ได้ผลิต ประทีปใบตองแห้ง ที่ย่อยสลายง่ายสำหรับจำหน่ายช่วงเทศกาลลอยกระทงอีกด้วย
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลผลิตหลักของกล้วยตานีคือใบตองสด หลังจากปลูกกล้วยได้ 8 เดือน สามารถตัดใบตองจำหน่ายได้ แต่ละใบสามารถเก็บเกี่ยวได้ทุก 15 วันนับจากใบเทียนโผล่ (ใบเทียน คือ ใบกล้วยที่แทงออกมา ลักษณะใบยังม้วนอยู่) ใบตองที่เก็บเกี่ยวได้ต้องมีลักษณะสีเขียวเข้ม ใบตั้งตรง เทคนิคการตัดใบตองกล้วยตานีให้มีคุณภาพ สามารถใช้ขอเกี่ยวกดใบที่มีความคมมาก ทำให้ตัดใบได้ง่ายและไม่ทำให้ใบตองแตกจากการกระชากของขอเกี่ยว การตัดใบช่วงฤดูแล้ง สามารถยืดระยะเวลาการตัดออกไปได้อีก 30 วัน การตัดใบในฤดูฝนควรตัดช่วงที่ไม่มีน้ำค้าง ช่วงที่เหมาะที่สุดคือเวลาประมาณ 15.00 - 17.00 น. เพราะเป็นช่วงที่ใบกล้วยรับแสงได้มากในเวลากลางวัน ทำให้ใบอ่อนไม่แตกง่าย หากเป็นฤดูร้อน ที่มีอากาศแห้งแล้ง และอุณหภูมิสูง ควรตัดตอนช่วงเช้าเพื่อป้องกันการเหี่ยว การตัดแต่ละครั้งให้เหลือหูใบไว้ประมาณ 15 นิ้ว เมื่อตัดแล้วต้องรีบเก็บโดยให้ตั้งใบตองไว้กับต้น เพื่อป้องกันการไหลของยางกล้วยไปติดใบ หลังจากตัดใบกล้วยแล้ว ทั้งนี้ เกษตรกรที่ปลูกสามารถตัดใบตองได้ตลอดทั้งปี ในช่วงเดือน พ.ค.-ธ.ค. ได้ผลผลิต 600-1,000 ใบ/เดือน/ไร่ ช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. ได้ผลผลิต 300-500 ใบ/เดือน/ไร่ รอบหนึ่งปีเก็บได้ 16 ครั้ง โดยได้ใบสดประมาณ 7,200-12,000ใบ/ไร่ ใบกล้วยตานี 3-4 ใบ ได้น้ำหนักใบตอง 1 กิโลกรัม คุณภาพของใบตองกล้วยตานีสามารถคัดเกรดใบตองแบ่งเป็น 3 เกรด โดยใบตองที่มีคุณภาพและตลาดต้องการ เกรด A ได้จากการตัดใบรองจากใบเทียน ขนาดความกว้างของใบไม่น้อยกว่า 8 นิ้ว ใบไม่มีตำหนิขอบ ใบตองไม่มีลักษณะไหม้ ใบแตกได้ไม่เกิน 3 แฉก ปัจจุบันเกรดของใบตองขึ้นอยู่กับผู้รับซื้อ ซึ่งมีหลายแบบตามการนำไปใช้งานทั้งในและนอกประเทศ
“เกษตรกรควรศึกษาการให้ปุ๋ยที่เหมาะสมและหมั่นดูแลคืนความสมบูรณ์ให้ดินอย่างสม่ำเสมอ ใบตองถือเป็นผลผลิตที่มีอนาคต มีความต้องการในประเทศสูง เนื่องจากกระแสการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติทำให้ความต้องการเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเกษตรกรที่สนใจปลูกควรวิเคราะห์ความคุ้มค่าเพื่อวางแผนการลงทุน แผนการผลิต แผนการเงิน แผนการตลาดอย่างรอบคอบ โดยสามารถขอคำแนะนำได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่านเพื่อร่วมวางแผนการเพาะปลูก” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
...................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น