กรมวิทย์ฯ บริการ ผนึกกำลังหน่วยงานในพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิตและดูแลประชาชนให้ก้าวสู่สังคมอัจฉริยะอย่างยั่งยืนด้วยวิทยาศาสตร์ ทั่วประเทศ
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 - 26 พฤศจิกายน 2567 ตนได้มอบหมายให้ ดร.ภูวดี ตู้จินดา ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีดิจิทัลวิทยาศาสตร์บริการ กรมวิทย์ฯ บริการ และปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการของสำนักวิทยาศาสตร์บริการ เขตที่ 2 รับผิดชอบเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ทำหน้าที่บูรณาการความร่วมมือ โดยผ่านกระบวนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้าน ววน. ของสถาบันอุดมศึกษาภายใน อว. ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เพื่อส่งเสริมและการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพประเทศ (National Quality Infrastructure: NQI) ซึ่งมีความจำเป็นต่อการสร้างเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิต บริการ เศรษฐกิจฐานราก และภาคประชาชน ของไทยให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนบนเวทีโลก ซึ่งจะนำมาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ โดยมีผู้บริหารทั้ง 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ ศ.ดร.ภก.กรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร รศ.ดร.สุภาวิณี สัตยาภรณ์ อธิการบดี มรภ.อุตรดิตถ์ ผศ.ดร.กมลวิช ลอยมา รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและกิจการสภา ดร.แก้วตา ผิวพรรณ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิลปวัฒนธรรม มรภ.เพชรบูรณ์ รศ.ดร.รติพร สำองค์ ผู้แทน มรภ.พิบูลสงคราม และคณะอาจารย์ของมหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่ง มีวัตถุประสงค์ตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีศุภมาส และเป้าหมายของอธิบดี กรมวิทย์ฯบริการ เพื่อให้ "ประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่มีความเชื่อมั่น มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล พร้อมทั้งการนำวิทยาศาสตร์สู่การดูแลประชาชน” ได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายท่านรัฐมนตรีสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม มีการบูรณาการสร้างความร่วมมือ ส่งเสริม สนับสนุนให้สถาบันการศึกษาได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล เพื่อช่วยยกระดับการบริการและแก้ปัญหาเชิงพื้นที่สู่การนำวิทยาศาสตร์สู่การดูแลประชาชน และ คุณภาพผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐาน
การดำเนินงานนี้เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และมาตรฐานห้องปฏิบัติการในประเทศ ให้ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล พร้อมทั้งยกระดับความร่วมมือของพันธมิตรเครือข่ายในเขตพื้นที่ ซึ่งการดำเนินงานในครั้งนี้ ของ กรมวิทย์ฯ บริการ ได้เข้าไปสนับสนุนห้องปฏิบัติการในสถานศึกษา ในเรื่องของคำปรึกษาเพื่อให้ห้องปฏิบัติการมีมาตรฐาน แนวทางการลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจากการเข้าโครงการฯ อำนวยความสะดวกในเรื่องของการส่งเสริมองค์ความรู้ ที่สถานศึกษาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอน ร่วมทั้งการหารือเพื่อยกระดับความร่วมมือโดยใช้ทรัพยากรที่มีในเขตพื้นที่ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างสูงสุดต่อความยั่งยืนของประชาชนในพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น