กรมประมง...ประกาศ ข่าวดี !! รับปีใหม่ สภาผู้แทนราษฎร “ผ่าน” ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 เผย...เตรียมส่งต่อให้ สว.พิจารณา
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากการผลักดันของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดย ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งภาคการเมืองและภาคประชาชน ได้เร่งรัดให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 โดยมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วาระที่ 1 รับหลักการ วาระที่ 2 การพิจารณาโดยการแต่งตั้งกรรมาธิการยกร่างฯ รวมเป็นระยะเวลาประมาณ 9 เดือน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติในวาระที่ 3 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 พ.ศ....ด้วยเหตุผลสำคัญ คือ ในพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวประมง ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันร่างพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ขึ้นมา โดยบทบัญญัติของกฎหมายฉบับนี้มุ่งหมายเพื่อการจัดระเบียบการประมงในประเทศไทยและในน่านน้ำทั่วไป เพื่อป้องกันมิให้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในภาวะที่เป็นแหล่งอาหารของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน และรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมให้ดำรงอยู่ในสภาพที่เหมาะสมตามแนวทาง กฎเกณฑ์ และมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับนับถือในนานาประเทศ รวมทั้ง คุ้มครองสวัสดิภาพของคนประจำเรือ และป้องกันการใช้แรงงานผิดกฎหมายในภาคการประมง ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนประมงท้องถิ่น โดยหลังจากนี้จะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภาต่อไป
กรมประมง เชื่อมั่นว่าการปรับปรุงกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ... จะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องชาวประมงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงบทกำหนดโทษให้สอดคล้องกับความร้ายแรงของการกระทำความผิด การให้เรือประมงพื้นบ้านมีพื้นที่ทำการประมงมากขึ้น การปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม การกำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น การยกเลิกมาตรา 34 ที่ห้ามเรือประมงพื้นบ้านออกทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง การยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับการควบคุมแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำที่ซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นที่มีสภาพบังคับอยู่แล้ว เป็นต้น อีกทั้ง ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับใหม่นี้ จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการประมงตลอดสายการผลิต ของประเทศฟื้นตัวอย่างเหมาะสม ภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศและเป็นไปตามมาตรฐานสากล ควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้ยั่งยืนเพื่อเป็นแหล่งอาหารของโลกและการเกิดความคุ้มค่าจากการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย และประชาชน คือ ผู้ได้รับประโยชน์สูงสุด สอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่จะฟื้นชีวิตอุตสาหกรรมประมงให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประชาชน...อธิบดีกรมประมง กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น