“ดีพร้อม” ร่วมดันแผนสร้างเกษตรครบวงจรมูลค่าสูงปี 68 ผ่านมาตรการ “อะโกร โซลูชันส์” พร้อมลุยปั้นเกษตรอุตฯ อย่างต่อเนื่องในระยะ 3 ปี หนุน “คน – กำลังผลิต - เทคนิค”
•สมาคมโกโก้เร่งผลักดันโกโก้ไทยโตรับหลากอานิสงส์ – เทรนด์โลก ขับเคลื่อน 3 กลไก “สร้างองค์ความรู้วางมาตรฐาน และสร้างแบรนดิ้ง”
กรุงเทพฯ – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เดินหน้าตามนโยบายปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมเกษตรไทย เผยแผนการดำเนินงานในปี 2568 “Agro Solutions” เพื่อยกระดับภาคการเกษตรไทยสู่เกษตรอุตสาหกรรมครบวงจรมูลค่าสูง รุกเดินหน้าพัฒนาโกโก้ไทยให้เติบโตตามเทรนด์และพฤติกรรมการบริโภค โดยเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พร้อมมาตรการสนับสนุนที่เข้มข้นภายใต้แผนการดำเนินงาน 3 ปี นอกจากนี้ สมาคมโกโก้ยังเผยเทรนด์การเติบโตของโกโก้ที่สามารถจับตลาดได้ทั้งกลุ่มอาหาร และไม่ใช่อาหาร เช่น อาหารจากพืช และอาหารออร์แกนิก ตลาดขนมหวาน รวมถึงการเติบโตของร้านคาเฟ่และขนม และยังมีแผนพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างเกษตรกร ผู้ขาย และผู้ผลิต ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ออกแบบให้ตรงตามมาตรฐานโลก เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าและการเติบโตของโกโก้ไทย
นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดีพร้อมวางแนวทางส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการดำเนินงานตามนโยบายของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ปัจจุบันกำลังขับเคลื่อน “การปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ที่ทันสมัย สะอาด และโปร่งใส” ซึ่งหนึ่งในอุตสาหกรรมที่กำลังปฏิรูปอย่างเข้มข้นคือ “เกษตรอุตสาหกรรม” ในปี 2568 ดีพร้อมจึงได้ผลักดันแผนที่เรียกว่า “Agro Solutions” ซึ่งแผนงานนี้เป็นการยกระดับภาคการเกษตรของไทยสู่การเป็นเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจรมูลค่าสูง โดยมุ่งยกระดับผลผลิตทางการเกษตรทั้งพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ข้าว และโกโก้ ผักและผลไม้ เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด ลำไย สับปะรด และสมุนไพร ให้มีความโดดเด่นและตอบโจทย์กับการบริโภคในตลาด เชื่อมโยงไปถึงการผลักดันและสร้างมูลค่าซอฟต์พาวเวอร์ในหลากหลายสาขา พร้อมกระจายพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในการเพาะปลูก ผลิต บริการ (Hyper Location) การสร้างทักษะที่สูงขึ้นให้กับคนในชุมชน (Local Spirit) และเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่มีมูลค่าสูงและเหมาะสมกับการใช้ในภาคเกษตรไทย
“กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) มุ่งส่งเสริม และพัฒนาเกษตรกรในการขับเคลื่อนเกษตรอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาการเกษตรของไทยให้เป็น Smart Farmer หรือ นักธุรกิจเกษตรสมัยใหม่ มีการกำหนดรูปแบบ แนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value added) ให้แก่ผลผลิตการเกษตร ผ่านแนะนำการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนำมาช่วยแก้ปัญหาการทำเกษตรอย่างถูกต้อง และสร้างมาตรฐานการผลิตและแปรรูปสินค้า ทางการเกษตร โดยจะสร้างตลาดใหม่เป็นศูนย์รวมการกระจายสินค้าทางการเกษตร และสร้างธุรกิจใหม่จากการเกษตร เช่น การนำของเสียจากธุรกิจเกษตรหนึ่ง ไปสร้างมูลค่ากับอีกธุรกิจเกษตร เพื่อผลประโยชน์ที่สูงสุดนำกลับสู่เกษตรกในรูปแบบของการปันผลจากผลกำไรสุดท้ายที่ได้จากการแปรรูปจำหน่ายในระบบอุตสาหกรรมเกษตรที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งจากแนวทางนี้ก็ได้ถูกขับเคลื่อนผ่านกลไกที่เรียกว่า Agro Solution ประกอบด้วย 1) Re-Skill / Up-Skill / New-Skill 2) Process Development 3) Product Development ซึ่งทั้งหมดนี้คือการเปลี่ยนเกษตรกรรมสู่เกษตรอุตสาหกรรมแบบครบวงจร”
นายกิตติโชติ ศุภกำเนิด ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในส่วนของการสร้างขับเคลื่อนการสร้างเกษตรมูลค่าสูงสู่อุตสาหกรรมอนาคต จะเน้นอุตสาหกรรมอนาคต : S-curve เช่น Biochemical Industry และพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม ปรับโครงสร้างภาคเกษตร ลดต้นทุนอุตสาหกรรม ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดย กำหนดชนิดและคุณภาพวัตถุดิบในการผลิตของโรงงาน ส่งเสริมการทำเกษตรทันสมัย Precision Farming / Smart Farming การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ภาคการเกษตร สนับสนุนเครื่องจักรที่ทันสมัย และการบริหารต้นทุนของเกษตรกร สร้างนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งที่ผ่านทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ได้ดำเนินการกับพืชเศรษฐกิจต่างๆ อาทิ อ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา รวมทั้ง โกโก้ ถือเป็นพืชครบวงจรที่สร้างคุณค่าในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำที่เริ่มจากการปลูกด้วยความใส่ใจ การคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสม และการดูแลที่พิถีพิถัน สู่กลางน้ำที่เปลี่ยนผลผลิตดิบให้กลายเป็นวัตถุดิบคุณภาพผ่านกระบวนการหมัก ตากแห้ง และการคั่วอย่างประณีต จนถึงปลายน้ำที่แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นช็อกโกแลตระดับพรีเมียม ผงโกโก้เข้มข้น หรือผลิตภัณฑ์ความงามที่เต็มไปด้วยคุณค่าแห่งธรรมชาติ โกโก้จึงเป็นพืชครบวงจรที่เชื่อมโยงทุกกระบวนการเข้าด้วยกันอย่างลงตัว สร้างทั้งมูลค่าและความยั่งยืนให้กับทุกภาคส่วนในห่วงโซ่การผลิต
ทั้งนี้ ดีพร้อม ได้วางแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมโกโก้ในระยะ 3 ปี (2567–2569) โดยมีเป้าหมายเพิ่มผลผลิตในแต่ละภูมิภาค เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางโกโก้ในอาเซียน คาดว่ามาตรการเหล่านี้จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 8,000 ล้านบาท มาตรการส่งเสริมประกอบด้วย 1) พัฒนาบุคลากรภาคการเกษตร ด้วยการเพิ่มมูลค่าเมล็ดโกโก้ผ่านการแปรรูปที่ตรงตามความต้องการของตลาด และส่งเสริมการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ 2) พัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการ ผ่านการสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์และนำเทคโนโลยีเครื่องทุ่นแรงมาใช้ เช่น เครื่องคั่วเมล็ดโกโก้อัจฉริยะด้วยระบบ AI และเครื่องบีบสกัดไขมันเนยโกโก้ 3) พัฒนาปัจจัยเอื้อ ซึ่งจะต้องยกระดับมาตรฐานเมล็ดโกโก้และผลิตภัณฑ์ให้เทียบเท่าสากล พร้อมส่งเสริมเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ 4) ส่งเสริมด้านการตลาด นำผู้ประกอบการแปรรูปโกโก้เข้าร่วมงานแสดงสินค้า และผลักดันเข้าสู่โมเดิร์นเทรดในปี 2568–2569 นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาพันธุ์โกโก้ในแต่ละภูมิภาคให้เป็นสินค้า GI เพื่อสร้างแบรนด์ท้องถิ่นที่มีคุณภาพและอัตลักษณ์ทางรสชาติ พร้อมเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวผ่านซอฟต์พาวเวอร์ เช่น การจัดเทศกาลและส่งเสริมธุรกิจคาเฟ่ ด้วยมาตรการเหล่านี้ ประเทศไทยมีโอกาสก้าวสู่การเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมโกโก้ระดับโลก สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจและชุมชนในทุกภูมิภาค
ด้านนายบดินทร์ เจริญพงศ์ชัย นายกสมาคมการค้าโกโก้และช็อกโกแลตไทย หรือ TACCO และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ด โคเวอรี่ จำกัด (แบรนด์ Cacao Everywhere) กล่าวว่า ในขณะนี้ตลาดของการผลิตและปลูกโกโก้ได้ถูกโฟกัสมาที่ภูมิภาคเอเชีย และเป็นที่น่าจับตาว่าภูมิภาคนี้จะมีความสำคัญในการสร้างมูลค่าและขยายตลาดที่เพิ่มมากขึ้นจากปัจจัยนี้ สมาคม TACCO จึงได้วาง 3 แกนหลักในการดำเนินแผนงานอย่างเร่งด่วน ควบคู่กับแผนระยะยาว คือ 1) Knowledge & Expertise เสริมสร้างความรู้ เทคนิค และความเชี่ยวชาญของโกโก้และช็อคโกแลตในระดับสากลแก่เกษตรกรและผู้สนใจ
2) Standard & Certification เร่งสร้างและวางมาตรฐาน การรับรอง คุณภาพในด้านต่างๆ ของอุตสาหกรรมโกโก้และช็อคโกแลตเทียบเคียงระดับโลก และ 3) Branding & Communication วางและสร้างระบบแบรนดิ้งและการสื่อสารของอุตสาหกรรมโกโก้และช็อคโกแลตไทย ตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม (ปลูก แปร ปรุง) ในวงกว้างขึ้น ทั้งนี้ สมาคม TACCO ยังมีแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมโกโก้ในชุมชน ซึ่งเป้าหมายหลักคือการยกระดับรายได้ของเกษตรกร โดยจะเน้นสนับสนุนการปลูก แปร และปรุง โกโก้ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น ช็อกโกแลต ผงโกโก้ และสินค้าเกรดพรีเมียม
“ทั้งนี้ มองว่าโกโก้ไทยไม่ได้เป็นเพียงพืชเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นกลไกในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน สร้างอาชีพ และขยายโอกาสสู่ตลาดโลก นอกจากนี้ในปี 2568 สมาคม TACCO ยังจะมุ่งขับเคลื่อนการดำเนินงานให้ความสำคัญกับการขยายพื้นที่เพาะปลูก การเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการ และการสร้างความยั่งยืนในทุกมิติของธุรกิจโกโก้ ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญสู่ความสำเร็จในระยะยาว นอกจากนี้ยังมีแนวทางการยกระดับพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างเกษตรกร ผู้ขาย และผู้ผลิต ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ออกแบบให้ตรงตามมาตรฐานสากลโลก เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้า ซึ่งต้องจัดหาทุนสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีกทางหนึ่งด้วย
โดยสมาคม TACCO ยังมุ่งยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมผ่านโครงการ “Train the Trainer” ซึ่งจะอบรมผู้ประกอบการเกษตรในแต่ละภูมิภาค ภาคละ 5 คน รวมทั้งหมด 5 ภาค เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ไปยังชุมชนในวงกว้าง เพื่อให้ผลผลิตที่ดีเริ่มต้นตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อที่กลางน้ำและปลายน้ำได้วัตถุดิบที่ดี มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ พร้อมผลักดันธุรกิจโกโก้ไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนามาตรฐานการผลิต และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป้าหมายสูงสุดคือการนำโกโก้ไทยก้าวสู่ตลาดโลกอย่างมั่นคงและยั่งยืนในทุกด้านต่อไป นายบดินทร์ กล่าวเสริม
อย่างไรก็ดี สำหรับการเติบโตของโกโก้ในด้านโอกาสของอุตสาหกรรมอาหารจะพบว่า โกโก้จะได้รับอานิสงส์จากอาหารเพื่อสุขภาพและความยั่งยืน เช่น อาหารจากพืช (Plant-based) และอาหารออร์แกนิก รวมถึงการเติบโตของร้านคาเฟ่และขนมในภูมิภาคและทั่วประเทศ ที่ทำให้ความต้องการนำโกโก้ไปเป็นวัตถุดิบในการทำเครื่องดื่มและขนมเติบโตตาม พร้อมด้วยตลาดช็อกโกแลตและขนมหวาน จากความต้องการช็อกโกแลตที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก สำหรับอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อาหาร เทรนด์ที่น่าจับตายังคงมาจากเทรนด์พฤติกรรมรักสุขภาพ ซึ่งโกโก้มีประโยชน์ทั้งการช่วยลดความดันโลหิตสูง เพิ่มประสิทธิภาพด้านความจำ ช่วยให้อารมณ์ดีและป้องกันรักษาโรคซึมเศร้าได้ เทรนด์ด้าน Zero Waste ซึ่งทุกส่วนของโกโก้สามารถนำไปต่อยอดเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มได้ รวมทั้ง เทรนด์ด้านการท่องเที่ยว ที่โกโก้จะเป็นอีกหนึ่งจุดขายให้กับการท่องเที่ยวชุมชนได้ในหลาย ๆ เทศกาล รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงนิทรรศการ เช่นการจัดอีเว้นต์ งานแฟร์ เทศกาลอาหารและเครื่องดื่มของภูมิภาคต่าง ๆ
###
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น