วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2567

ซินโครตรอน กระทรวง อว. ติวเข้มเสริมทักษะการประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอน

  ซินโครตรอน กระทรวง อว. ติวเข้มเสริมทักษะการประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอน 

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมทักษะผู้ใช้บริการแสงซินโครตรอนในการประยุกต์ใช้แสงฯ ด้วย 4 เทคนิค ได้แก่ เทคนิค micro-FTIR, เทคนิค micro-XRF imaging, เทคนิค SAXS และเทคนิค WAXS โดยผู้เข้าอบรมได้รับข้อมูลหลักการพื้นฐานทางเทคนิค การประยุกต์เทคนิคในการวิเคราะห์ทดสอบวัสดุด้านต่างๆ รวมถึงการทดลองปฏิบัติจริงที่ระบบลำเลียงแสง ทั้งการเตรียมตัวอย่าง การทำการทดลอง รวมถึงการวิเคราะห์และแปลผลข้อมูล อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านวิชาการและงานวิจัยระหว่างหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ


นครราชสีมา - ดร.แพร จิรวัฒน์กุล หัวหน้าฝ่ายระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “สถาบันฯ ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการใช้แสงซินโครตรอนด้วยเทคนิคต่างๆ ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 23-24 ธันวาคม 2567 ได้แก่ การอบรมการใช้เทคนิค micro-XRF imaging และเทคนิค micro-FTIR ซึ่งมีอาจารย์ นักวิจัยและนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ กว่า 50 คนเข้าร่วมการอบรม และการอบรมเชิงปฏิบัติการ X-ray Scattering Unveiled for Beginners ซึ่งมีนักวิจัย นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา และอาจารย์จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม 30 คน” 


สำหรับการอบรมการใช้เทคนิค micro-XRF imaging และเทคนิค micro-FTIR นั้น มีกิจกรรมการบรรยาย การเขียนร่างข้อเสนอโครงการ การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการแสงสยาม การทดลองเตรียมตัวอย่างและวัดตัวอย่าง ณ ระบบลำเลียงแสงที่ 4.1: micro-IR spectroscopy and imaging และระบบลำเลียงแสงที่ 7.2W : micro-XRF imaging ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานวิจัยได้ เพื่อช่วยขยายศักยภาพและยกระดับการวัดวิเคราะห์ตัวอย่างในงานวิจัย อีกทั้งยังต่อยอดการใช้แสงซินโครตรอนเพื่อสนับสนุนงานวิจัยอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต  

ทั้งนี้ เทคนิค micro-IR เป็นเทคนิคที่ใช้วัดองค์ประกอบทางเคมีและหมู่ฟังก์ชันของตัวอย่าง ที่มีจุดเด่นในการวัดตัวอย่างที่มีปริมาณน้อยหรือมีขนาดเล็กจนถึงระดับ 5 ไมครอน ที่สามารถสร้างภาพจำลองทางเคมีที่มีความละเอียดสูง สามารถดูการกระจายตัวขององค์ประกอบทางเคมีและหมู่ฟังก์ชันได้ และเทคนิค micro-XRF imaging เป็นเทคนิควิเคราะห์เชิงพื้นที่ที่ใช้รังสีเอกซ์ในการตรวจสอบองค์ประกอบธาตุของตัวอย่าง โดยมีความละเอียดสูงระดับไมครอน สามารถสร้างภาพการกระจายตัวของธาตุในตัวอย่างได้อย่างแม่นยำ

ส่วนการอบรมเชิงปฏิบัติการ X-ray Scattering Unveiled for Beginners เป็นการส่งเสริมการใช้ประโยชน์และเพิ่มทักษะความรู้ความเข้าใจแสงซินโครตรอนในเทคนิคการกระเจิงรังสีเอกซ์มุมแคบ (Small Angle X-ray Scattering, SAXS) และเทคนิคการกระเจิงรังสีเอกซ์มุมกว้าง (Wide-Angle X-ray Scattering, WAXS) ที่ให้ข้อมูลทางโครงสร้างของตัวอย่างที่นำมาทดสอบ ทั้งระดับนาโนเมตร และระดับอะตอม โดยเทคนิค SAXS ให้ข้อมูลโครงสร้างของตัวอย่างในระดับนาโนเมตร เช่น เส้นใยพอลิเมอร์หรือกลุ่มอนุภาคนาโน เป็นต้น และเทคนิค WAXS ให้ข้อมูลโครงสร้างระดับอะตอม โครงสร้างผลึก หรือความเป็นผลึก เช่น แป้ง เนื้อไม้ ผลึกเหลวในโลชั่น เป็นต้น


ทั้งสองการอบรมนี้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสได้ลงมือทำการทดลองด้วยตัวเอง และลองแปลผลข้อมูล นำประสบการณ์ที่ได้ประยุกต์ใช้กับโจทย์วิจัยที่สนใจของแต่ละคน และเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อมาทำการทดลองต่อยอดสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในงานวิจัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยทางสถาบันฯ จะจัดโครงการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมทักษะผู้ใช้บริการแสงซินโครตรอนในเทคนิคด้านอื่นๆ อย่างต่อเนื่องต่อไป” ดร.แพร จิรวัฒน์กุล กล่าวปิดท้าย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ชพด. มอบเงินให้แก่ มูลนิธิร่วมกตัญญู และมอบข้าวโพดกระป๋องให้ รพ.สงฆ์

  ชพด. มอบเงินให้แก่ มูลนิธิร่วมกตัญญู และมอบข้าวโพดกระป๋องให้ รพ.สงฆ์ ชมรมจิตอาสาเพื่อคนพิการและผู้ด้อยโอกาส (ชพด.) มอบเงินบริจาคให้แก่มูลน...