วันอังคารที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2568

กรมประมง...แจง ! การ “แก้ มาตรา 69” พ.ร.บ.ประมงใหม่ มิได้บังคับใช้ทันที ต้องออกกฎหมายลูกกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และพื้นที่ โดยยึดข้อมูลวิชาการและมาตรการที่เหมาะสมให้ไม่มีผลกระทบต่อทรัพยากรประมง

 กรมประมง...แจง ! การ “แก้ มาตรา 69” พ.ร.บ.ประมงใหม่ มิได้บังคับใช้ทันที ต้องออกกฎหมายลูกกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และพื้นที่ โดยยึดข้อมูลวิชาการและมาตรการที่เหมาะสมให้ไม่มีผลกระทบต่อทรัพยากรประมง

          นายบัญชา  สุขแก้ว  อธิบดีกรมประมง  เปิดเผยว่า จากกระแสข่าวการไม่เห็นด้วยกับการปรับปรุงแก้ไข มาตรา 69 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งเดิมมีข้อกำหนด ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทำการประมงในเวลากลางคืน  โดยแก้ไขเพิ่มเติมให้สามารถใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทำการประมงนอกเขตสิบสองไมล์ทะเลนับจากแนวทะเลชายฝั่งได้ในเวลากลางคืน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และพื้นที่ ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ทั้งนี้ ต้องกำหนดเรื่องการใช้แสงไฟล่อไว้ด้วย นั้น  ซึ่งข้อเท็จจริงในข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้นยังไม่มีผลบังคับใช้โดยทันทีเมื่อกฎหมายผ่านขั้นตอนจนออกมาเป็นพระราชบัญญัติแล้ว

          กรมประมง ขอเรียนชี้แจงว่า การบริหารจัดการทรัพยากรประมงในน่านน้ำไทย มีจุดมุ่งหมายในการจัดระเบียบการประมงเพื่อรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในภาวะที่เป็นแหล่งอาหารของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง กฎเกณฑ์ และมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยการศึกษาและนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ให้สอดคล้องกับแนวทางการรักษาสมดุลของระบบนิเวศและหลักการป้องกันล่วงหน้าเพื่อรักษาหรือฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในระดับที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน 

          สำหรับทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและมีความสำคัญในห่วงโซ่อาหาร คือ ปลากะตัก ที่ผ่านมา กรมประมงได้กำหนดมาตรการการใช้ประโยชน์จากปลากะตักในหลายด้าน และมีการรวบรวมข้อมูลทำการประมงปลากะตักเพื่อประเมินค่า MSY (Maximum Sustainable Yield) หรือ “ผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน” หมายถึง ปริมาณสูงสุดของสัตว์น้ำที่จะจับมาใช้ประโยชน์ได้ โดยสัตว์น้ำส่วนที่เหลือยังคงได้วางไข่และเจริญเติบโตมาทดแทนอย่างสมดุลกับปริมาณที่ถูกจับไป และมีการกำหนดปริมาณที่ให้สามารถจับได้ (TAC) โดยในปีการประมงที่ผ่านมา (ปีการประมง 2567) ปลากะตักในน่านน้ำไทยมีค่า MSY เท่ากับ 221,459 ตัน จัดสรรให้สามารถจับได้ 217,030 ตัน (ร้อยละ 98 ของค่า MSY) แต่จากข้อมูลปริมาณการจับปลากะตักในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2567 มีปริมาณการจับเพียง 90,000 ตัน และมีการลงแรงประมงไม่ถึงร้อยละ 25 ของการลงแรงที่ใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม (ระดับการลงแรงที่ค่า MSY) โดยปลากะตักมีช่วงอายุขัยประมาณ 1 ปี เมื่อไม่ถูกจับจะตายไปตามธรรมชาติจึงเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจ และเมื่อการจับปลากะตักในปัจจุบันมีปริมาณน้อย ส่งผลให้ปริมาณปลากะตักที่เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมน้ำปลาและการผลิตปลากะตักแห้งในประเทศมีไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องนำเข้าปลากะตักจากต่างประเทศเป็นจำนวนกว่า 20,000 ตันต่อปี อย่างไรก็ตาม การจับปลากะตักจะมีสัตว์น้ำอื่น ๆ ปะปน ทั้งที่เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจขนาดเล็กและขนาดใหญ่ จึงต้องคำนึงถึงผลของการทำการประมงปลากะตักอย่างรอบคอบเพื่อลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด

          ดังนั้น เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลากะตักอย่างคุ้มค่าและเหมาะสม จึงมีการปรับปรุงแก้ไข มาตรา 69 ให้เกิดความยืดหยุ่นที่จะนำทรัพยากรชนิดนี้มาใช้เมื่อเกิดความจำเป็นและเหมาะสม มีเหตุผลอย่างเพียงพอ โดยอนุญาตให้ใช้อวนที่มีขนาดตาน้อยกว่า 2.5 เซนติเมตร ทำการประมงล้อมจับปลากะตักในเวลากลางคืน ในพื้นที่ระยะมากกว่า 12 ไมล์ทะเลนับจากแนวชายฝั่ง โดยให้รัฐมนตรีมีอำนาจในการประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และพื้นที่ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรปลากะตักอย่างเหมาะสมและยั่งยืนไม่เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ น้อยที่สุด ซึ่งต้องนำไปพิจารณาทางวิชาการและรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเบื้องต้นมีแนวทาง ดังนี้ 

          1. ห้ามทำการประมงอวนล้อมจับปลากะตักเวลากลางคืน ในระยะ 12 ไมล์ทะเลเด็ดขาด

          2. การจะอนุญาตให้ทำการประมงนอกเขต 12 ไมล์ทะเล ได้นั้น ตัวบทกฎหมายเพียงเปิดช่องให้สามารถออกกฎหมายลำดับรองให้ทำได้เมื่อมีความจำเป็นและไม่กระทบกับทรัพยากรสัตว์น้ำในภาพรวมหรือกระทบน้อยที่สุด กล่าวคือ ต้องมีข้อมูลวิชาการที่ชัดเจนว่าไม่กระทบต่อสัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น ขนาดตาอวนทั้งผืนต้องมีขนาดไม่น้อยกว่ากว่า 0.6 เซนติเมตร และกำหนดช่วงเวลาให้ทำได้ในช่วงที่มีการปนของสัตว์น้ำอื่น ๆ น้อยที่สุด เบื้องต้นอาจกำหนดให้ทำการประมงได้เฉพาะในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม ในฝั่งอ่าวไทย และเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม ในฝั่งทะเลอันดามัน เฉพาะในพื้นที่อนุญาตซึ่งไม่ทับซ้อนกับเขตมาตรการอนุรักษ์ เช่น มาตรการปิดอ่าว  

          3. มีระดับความลึกของน้ำไม่น้อยกว่า 30 เมตร

          4. เรือทุกลำที่จะเข้ามาทำต้องเป็นเรือที่ได้รับใบอนุญาตอวนล้อมจับปลากะตักอยู่เดิม ซึ่งมีอยู่จำนวน 175 ลำ โดยเรือทุกลำต้องติด VMS ส่งสัญญาณให้ติดตามได้ทุก 15 นาที 

          5. ไม่อนุญาตให้เครื่องมือชนิดอื่นเปลี่ยนมาเป็นเครื่องมืออวนล้อมจับปลากะตัก

          6. จับคู่เรือปั่นไฟ และอนุญาตให้ใช้เรือปั่นไฟรวมกันไม่เกิน 3 ลำ ต่อเรืออวนล้อมจับปลากะตัก 1 ลำ โดยไม่ออกใบอนุญาตเรือปั่นไฟเพิ่ม และกำหนดกำลังไฟของเรือปั่นไฟ ไม่เกิน 40 กิโลวัตต์

          นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อเป็นการควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำ อาทิ การใช้ระบบโควตา การใช้ระบบสมุดบันทึกการทำการประมงแบบอิเล็กทรอนิกส์ และต้องแจ้งเข้าและออกทำการประมงกับศูนย์ PIPO ทุกครั้ง ฯลฯ

          ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อมูลทางวิชาการที่เพียงพอตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว กรมประมงจะดำเนินการเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ เพื่อให้ความเห็นชอบหลักการในการดำเนินการ หลังจากนั้น จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปกำหนดเป็นมาตรการโดยนำมาตรการไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย และออกประกาศมาตรการฯ เพื่อบังคับใช้ต่อไป โดยระหว่างนั้น จะมีการเก็บข้อมูลทางวิชาการและสามารถทบทวนปรับปรุงมาตรการได้ตามความเหมาะสม 

          กรมประมง เชื่อมั่นว่าการปรับปรุงกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง  พ.ศ. 2558 

พ.ศ... จำนวน 71 มาตรา จะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องชาวประมงได้ อีกทั้ง ยังช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการประมงตลอดสายการผลิตของประเทศฟื้นตัวอย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้ยั่งยืนและเกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุด สอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่จะฟื้นชีวิตอุตสาหกรรมประมงให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ...อธิบดีกรมประมง กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กรมบัญชีกลางร่วมมือกับ Open Contracting Partnership (OCP)ยกระดับความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสู่ระดับสากล

  กรมบัญชีกลางร่วมมือกับ Open Contracting Partnership (OCP)ยกระดับความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสู่ระดับสากล นางแพตริเซี...