วันเสาร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2568

เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี 

วันที่ 4 มกราคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย นางสาวพัชรกันย์ เมธาอัครเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักการคลังและสินทรัพย์ รักษาการที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน และนายนิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ประชุมเพื่อติดตามผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ทั้งในรูปแบบ on-site และ online ผ่านระบบ Video Conference ณ ห้องประชุมชลธี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุราษฎร์ธานี ชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมี นายนรินธรณ์ เซ่งล้ำ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุราษฎร์ธานี ชุมพร และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในเขตตรวจราชการที่ 5 (ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา สตูล และระนอง) รวม 19 เขตพื้นที่การศึกษา กล่าวรายงานภาพรวมความเสียหายและผลกระทบของสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ   



สำหรับสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในครั้งนี้ จากข้อมูลระหว่างวันที่ 14 - 19 ธันวาคม 2567 พบว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสถานศึกษาในสังกัด 44 โรงเรียน ได้รับผลกระทบจำนวน 15 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 34 มีนักเรียนได้รับผลกระทบ จำนวน 2,728 คน และครู จำนวน 210 คน ขณะที่จังหวัดชุมพร มีสถานศึกษาในสังกัด 22 โรงเรียน ได้รับผลกระทบจำนวน 13 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 59 มีนักเรียนได้รับผลกระทบ จำนวน 191 คน และครู จำนวน 35 คน โดยเขตพื้นที่ต้นสังกัดได้เข้าไปดูแลช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว พร้อมทั้งสำรวจความเสียหาย และจะดำเนินการเยียวยาฟื้นฟูให้เป็นปกติต่อไป



ทั้งนี้ เลขาธิการ กพฐ. ได้นำข้อห่วงใยของ รมว.ศธ. และ รมช.ศธ. ในการให้ความช่วยเหลือดูแลโรงเรียน ครูและนักเรียน ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง รวมถึงได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดทำเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาของบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอาคารสถานที่ หนังสือ อุปกรณ์การเรียน ฯลฯ จากสถานการณ์อุทกภัยดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการฟื้นฟูสถานศึกษาให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้ปกติโดยเร็ว เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเรียนของนักเรียน พร้อมกับวางแผนมาตรการป้องกันและรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยในอนาคตอย่างเป็นระบบต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

  “มนพร” ปลื้มเที่ยวบินช่วงปีใหม่ 68 เพิ่ม 18% อินเดีย-ไต้หวัน เพิ่มไฟลต์เข้าไทย กระตุ้นเศรษฐกิจโต วิทยุการบินฯ สรุปปริมาณเที่ยวบินในช่วงวัน...