วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2568

สกศ. ระดมสรรพกำลัง เร่ง “แผนการศึกษาชาติ เรือธงของสภาการศึกษา”

 สกศ. ระดมสรรพกำลัง เร่ง “แผนการศึกษาชาติ  เรือธงของสภาการศึกษา”

วันที่ 31 มกราคม 2568 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดทำร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....” โดยมี ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา นางอำภา พรหมวาทย์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา พร้อมด้วยผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องพาร์ควิว ชั้น 6 โรงแรมเวสเทิร์น จตุจักร กรุงเทพมหานคร 

รศ.ดร.ประวิต กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ว่า เพื่อให้ทุกสำนักภายใน สกศ. ร่วมกันบูรณาการองค์ความรู้ พร้อมทั้งให้ข้อคิดเห็นและเสนอแนะประเด็นที่เกี่ยวข้องจากร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่เสนอโดยคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา 

รศ.ดร.ประวิต แบ่งความเป็นมาและวิวัฒนาการของแผนการศึกษาแห่งชาติตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เป็น 2 ช่วง 1) ก่อนปี พ.ศ. 2542 มีแผนจำนวน 4 ฉบับ ได้ประกาศเป็นพระราชโองการส่งผลต่อการบังคับใช้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา มีเนื้อหาสั้น กระชับ และไม่ซับซ้อน มีความชัดเจนในแนวคิด ง่ายต่อการจดจำ และไม่มีการระบุเวลาที่สิ้นสุด ไม่ต้องฉายภาพอนาคตระยะไกล 2) ประกาศใช้หลังปี พ.ศ. 2542 มีการประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ เนื้อหาส่วนใหญ่ในแผนจะแสดงสภาวการณ์และผลการพัฒนาการศึกษาในช่วงที่ผ่านมา มีการกำหนดแนวนโยบาย เป้าหมาย ตัวชี้วัด แนวทางการพัฒนา และหน่วยงานรับผิดชอบแบบกว้าง นอกจากนี้ยังกำหนดวิธีการขับเคลื่อนและบริหารแผนสู่การปฏิบัติ การติดตาม การประเมินผล และปัจจัยความสำเร็จ เพื่อให้ที่ประชุมเข้าใจเห็นภาพเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลกสู่การพัฒนาร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ที่ประชุมร่วมกันอภิปรายประเด็นวิวัฒนาการของแผนการศึกษาชาติและมุมมองต่อไปในอนาคต

ที่ประชุมร่วมกันอภิปรายถึงร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ว่าควรมีเจตนารมณ์ในการชี้ทิศการศึกษาของประเทศ ควรมุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะทั้งในด้านความรู้ ความสามารถ ทักษะ และคุณลักษณะที่พึ่งประสงค์ เพื่อเป็นฐานพลังขับเคลื่อนประเทศในทุกมิติไปพร้อมกันอย่างสมดุล ควรมีองค์ประกอบ 5 ส่วน ได้แก่ 1) หลักการและความมุ่งหมาย 2) ระบบการศึกษา 3) แนวนโยบายการศึกษา 4) แนวทางการพัฒนาการศึกษา 5) แนวทางการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติสู่การปฏิบัติ ให้เกิดผลกระทบเป็นที่รับรู้ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างต่อเนื่อง  นอกจากนี้การกำหนดผลลัพธ์ขั้นสุดท้าย (Ultimate Outcome) ต้องให้มีประสิทธิภาพและเกิดผลลัพธ์ที่แท้จริงซึ่งจำเป็นต้องอ้างอิงข้อมูลเชิงสถิติและเชิงประจักษ์ สุดท้าย ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่าการดำเนินงานจำเป็นต้องบูรณาการองค์ความรู้ของแต่ละหน่วยงานเข้าด้วยกัน เพื่อร่วมกันร่างแผนการศึกษา สร้างสรรค์กลยุทธ์ ตรวจสอบความเหมาะสม และประเมินผลอย่างรอบด้าน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด


การประชุมครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการดำเนินงานของ สกศ. เพื่อร่วมกำหนดทิศทางแผนการศึกษาแห่งชาติที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและโลก ให้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาไทยอย่างแท้จริงด้วยความร่วมมือและข้อมูลเชิงประจักษ์ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “องค์กรคลังปัญญา ขับเคลื่อนการศึกษาด้วยองค์ความรู้” เพื่อให้ตอบสนองต่อนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ในทุกมิติผ่านการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กรมวิทย์ฯ บริการ คว้า 3รางวัล จากเวทีนานาชาติ “The 50th International Exhibition of Inventions Geneva” ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

  กรมวิทย์ฯ บริการ คว้า 3รางวัล จากเวทีนานาชาติ “The 50th International Exhibition of Inventions Geneva” ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส        ด...