กสม. แนะหน่วยงานพิจารณาคำขอประทานบัตรเหมืองหินปูน จ.ขอนแก่น อย่างรอบด้าน โดยคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม และคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประธานกลุ่มรักษ์ดงลานผ่านสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อเดือนเมษายน 2567 ขอให้ตรวจสอบกรณีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งยื่นคำขอประทานบัตรเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น จำนวน 2 คำขอ โดยพื้นที่ยื่นคำขอประทานบัตรตั้งอยู่ที่บ้านน้อยพรสวรรค์ หมู่ที่ 12 ตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ใกล้กับตำบลดงลาน อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น และเป็นพื้นที่ป่าผืนเดียวกันกับอุทยานแห่งชาติภูผาม่านและป่าสงวนแห่งชาติป่าดงลาน มีพืชพรรณเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เป็นพื้นที่อาศัยของสัตว์ป่าสงวน เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชน มีแหล่งน้ำซับซึมตามธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำพอง รวมทั้งบริเวณใกล้เคียงในระยะ 300 – 500 เมตร มีแหล่งโบราณคดี ภาพเขียนสีโบราณ “ผาแต้ม” และภาพเขียนสีบริเวณถ้ำผาพวง อายุประมาณ 2,000 ปี โดยมีความกังวลว่าการทำเหมืองแร่อาจส่งผลกระทบโดยตรงทั้งจากแรงสั่นสะเทือนที่จะทำลายถ้ำ ฝุ่นละอองปกคลุม และอาจเป็นเหตุให้แหล่งท่องเที่ยวสูญเสียความงดงาม ถนนที่ใช้สัญจรชำรุด กระทบต่อสุขภาพและวิถีชีวิตของชุมชน ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละออง และมลพิษด้านเสียงจากการระเบิด ทั้งยังไม่สอดคล้องกับการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยววิถีสีชมพู นอกจากนี้ กลุ่มรักษ์ดงลานยังเห็นว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างรอบด้าน รวมทั้งมีการคุกคามประชาชนที่แสดงความคิดเห็นคัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 41 มาตรา 43 และมาตรา 58 ให้การรับรองสิทธิของบุคคลและชุมชน และกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดให้บุคคลและชุมชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ การเข้าชื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการหรือละเว้นการดำเนินการที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนหรือชุมชน ขณะเดียวกัน ในการดำเนินการใด ๆ ของรัฐที่จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชน รัฐต้องชี้แจงข้อมูลและเหตุผลในการดำเนินการพร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและชุมชนที่มีส่วนได้เสียก่อน
กรณีตามคำร้อง มีประเด็นแยกพิจารณาได้ 3 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น รับจดทะเบียนคำขอประทานบัตรของบริษัทเอกชน โดยไม่ตรวจสอบข้อมูลว่าเป็นพื้นที่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 หรือไม่ เห็นว่า คำขอประทานบัตรทั้งสองคำขออยู่ในแผนแม่บทว่าด้วยการบริหารจัดการแร่ ไม่ทับกับพื้นที่คำขอแปลงอื่น และอยู่ในพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม หน่วยงานจึงได้รับจดทะเบียนคำขอประทานบัตรทั้งสองไว้ ส่วนการตรวจสอบในประเด็นพื้นที่ต้องห้ามตามกฎหมาย และผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่หรือไม่นั้น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ได้มีหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบตามประเด็นข้างต้น และจังหวัดขอนแก่นให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ชะลอการดำเนินการคำขอทั้งสองไว้ก่อน ในชั้นนี้ จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ผู้ถูกร้อง มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ประเด็นที่สอง กระบวนการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เห็นว่า เมื่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น รับจดทะเบียนคำขอประทานบัตร ได้ดำเนินการเชิงกระบวนการตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 และระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยก่อนการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น มีการปิดประกาศการรับฟังความคิดเห็นและส่งหนังสือเชิญเข้าร่วมประชุมพร้อมด้วยข้อมูลที่เกี่ยวกับคำขอประทานบัตรทั้งสองแล้ว แต่การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่บ้านซำขาม หมู่ที่ 8 ตำบลดงลาน อำเภอสีชมพู มีการยกเลิกไปเนื่องจากผู้ร้องแสดงจุดยืนโดยการไม่เข้าร่วมเวที และเนื่องจากอยู่ระหว่างชะลอการดำเนินการคำขอประทานบัตรทั้งสองตามคำสั่งจังหวัดขอนแก่น จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น เช่นกัน
ส่วนประเด็นที่สาม กรณีร้องเรียนว่า องค์การบริหารส่วนตำบลดงลาน และบริษัทเอกชนผู้ขอประทานบัตร คุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่คัดค้านการทำเหมืองแร่ จากการตรวจสอบ ไม่ปรากฏข้อมูลการคุกคามต่อกลุ่มผู้คัดค้าน แต่บริษัทเอกชนผู้ขอประทานบัตรยอมรับว่าได้พยายามประสานองค์การบริหารส่วนตำบลดงลาน เพื่อเชิญกลุ่มผู้คัดค้านมาเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น ความพยายามในการประสานให้กลุ่มผู้คัดค้านมาเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น จึงอาจเป็นการสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตหรือถูกคุกคาม และอาจกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของกลุ่มผู้คัดค้าน จึงรับฟังได้ว่าเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สรุปได้ ดังนี้
1. ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น และผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พิจารณาเสนอความเห็นต่อการขออนุญาตประทานบัตรของคำขอประทานบัตรทั้ง 2 คำขอ อย่างรอบด้าน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือส่วนได้เสียของชุมชนและประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ รวมทั้งให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น นำผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำสั่งจังหวัดขอนแก่น ที่ 1384/2567 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2567 ซึ่งปรากฏข้อมูลว่า ประชาชนในพื้นที่ตำบลดงลาน อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น ไม่เห็นด้วยกับการขออนุญาตประทานบัตร เสนอกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรและการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
2. ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี ทบทวนการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน ในพื้นที่ตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ เนื่องจากเขตแหล่งแร่ดังกล่าวเป็นแหล่งพื้นที่ต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม และแหล่งโบราณคดี ซึ่งเป็นพื้นที่ต้องห้ามกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ตามมาตรา 17 วรรคสี่แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560
3. ให้บริษัทเอกชนผู้ขอประทานบัตรระมัดระวังในส่วนของการประสานเพื่อเข้าพบหรือพยายามทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้คัดค้าน ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นการคุกคามต่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกาย รวมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของกลุ่มผู้คัดค้าน
4. ให้ประธานกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ เร่งรัดกำหนดคำอธิบายความหมายของป่าน้ำซับซึมในแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ โดยนิยามดังกล่าวต้องหมายความรวมถึงการเป็นพื้นที่แหล่งน้ำซับซึมที่มีความสำคัญต่อการใช้ประโยชน์ในด้านการอุปโภคบริโภคของชุมชนและประชาชนประกอบด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น