ทส. ยกระดับการจัดการขยะทะเล และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล มอบ กรมทะเล ร่วมมือภาคีเครือข่ายSCGC ร่วมบริหารจัดการปัญหาขยะทะเลด้วยนวัตกรรมใหม่ “ทุ่นดักขยะ SCGC - DMCR Litter Trap Gen 3”
ปัญหาขยะทะเล เป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องเร่งแก้ไข โดยจะเห็นได้จากในช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยถูกจัดอันดับจากประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดเป็นอันดับที่ 6 ของโลก (พ.ศ 2558) มาเป็นอันดับที่ 10 (พ.ศ. 2564) แม้ว่าสถานการณ์ขยะทะเลจะดีขึ้น แต่ก็ยังต้องมีการบริหารจัดการขยะทะเลอย่างต่อเนื่อง
ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงสถานการณ์ขยะทะเลว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างจริงจังและเห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรม เห็นได้จากการจัดอันดับการปล่อยขยะทะเลที่ลดน้อยลง แสดงให้เห็นถึงการบริหารจัดการขยะทะเลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีในการแก้ไขปัญหาขยะทะเลของประเทศไทย ในปัจจุบันหน่วยงานหลายภาคส่วนได้ดำเนินงานแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกตามแนว Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. 2561 – 2573) และแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) ซึ่งเป็นกรอบนโยบายการบริหารและกรอบทิศทางสำหรับขับเคลื่อนการดำเนินการป้องกันและการจัดการขยะพลาสติกของประเทศร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องให้เกิดความต่อเนื่องและยกระดับการจัดการให้สอดรับกับสภาพปัญหา โดยในปี 2566 คาดว่ามีปริมาณขยะที่จัดการไม่ถูกต้อง และทำให้เกิดขยะทะเลประมาณ 34,000 -51,000 ตัน ซึ่งเป็นขยะพลาสติกประมาณ 4,000-6,000 ตัน การแก้ไขปัญหาขยะทะเลอย่างยั่งยืน จึงจำเป็นที่จะต้องลดปริมาณขยะจากต้นทาง รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการจัดการขยะมูลฝอย ตั้งแต่การคัดแยก การทิ้ง การขนส่ง ไปจนถึงการกำจัด ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณขยะที่รั่วไหลลงสู่ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งลดลง เพราะแหล่งที่มาของขยะทะเลที่แท้จริงมาจากบนบกสูงถึงร้อยละ 80
ดร. เฉลิมชัย กล่าวต่ออีกว่า การขยายความรับผิดชอบไปยังผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) ซึ่งเป็นหลักการที่ขยายความรับผิดชอบไปยังช่วงต่างๆ ของวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ เป็นแนวทางให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ กระจายสินค้า การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ จะช่วยให้ผู้ผลิตหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น และปรับการใช้วัสดุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำหลักการเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ซึ่งเป็นการนำขยะพลาสติกที่เก็บได้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล จะทำให้การแก้ไขปัญหาขยะทะเลเกิดความยั่งยืน
ด้าน ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวหลังจากรับมอบทุ่นดักขยะลอยน้ำ รุ่นที่ 3 (SCGC-DMCR Litter Trap) จากคุณน้ำทิพย์ สำเภาประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแบรนด์และกิจการเพื่อสังคม พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) ณ โถงหน้าห้องประชุมลำแพน ชั้น 9 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 ที่ผ่านมาว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รับมอบทุ่นดักขยะลอยน้ำ จำนวน 25 ชุด เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมเก็บขยะในแม่น้ำลำคลอง ภายใต้โครงการบริหารจัดการขยะทะเลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งต่อไป ทั้งนี้ SCGC-DMCR Litter Trap เป็นนวัตกรรมทุ่นดักขยะลอยน้ำที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC พัฒนาขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ดักขยะในแม่น้ำลำคลองก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเล ซึ่งปัจจุบันเป็นทุ่นดักขยะลอยน้ำ รุ่นที่ 3 มีคุณสมบัติเป็นพลาสติก HDPE เกรดพิเศษที่มีความแข็งแรง ทนทานต่อแสงแดด และสามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมด ทุ่นรุ่นใหม่นี้มีน้ำหนักเบาลงกว่าร้อยละ 50 เพื่อการขนส่งและติดตั้งที่สะดวกรวดเร็วขึ้น รองรับน้ำหนักขยะได้มากถึง 700 กิโลกรัมต่อตัว พร้อมอายุการใช้งานยาวนานกว่า 25 ปี จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาได้มีการติดตั้งทุ่นดักขยะบริเวณปากแม่น้ำและลำคลองในพื้นที่ 17 จังหวัด สามารถลดปริมาณขยะที่ไหลลงทะเลได้กว่า 90 ตัน ตั้งแต่ปี 2563 อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพและป้องกันมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล
อย่างไรก็ดี การพัฒนานวัตกรรมทุ่นดักขยะลอยน้ำระหว่างกรมฯ กับ SCGC เป็นไปตามหลักการของการบริหารงานภาครัฐแนวใหม่ คือเป็นภาครัฐที่เปิดกว้าง (Open Government) ที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเห็นผลเป็นรูปธรรม รวมถึงยังช่วยสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งให้กับประชาชนในพื้นที่ อันจะนำไปสู่การขยายเครือข่ายอนุรักษ์ที่มีความเข้มแข็ง และการบริหารจัดการขยะทะเลอย่างยั่งยืน “ดร.ปิ่นสักก์ กล่าว”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น