วันศุกร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2568

Synchrotron Open House ซินโครตรอน กระทรวง อว. เปิดบ้านสร้างโอกาสการเรียนรู้รับวันเด็ก

 Synchrotron Open House ซินโครตรอน กระทรวง อว. เปิดบ้านสร้างโอกาสการเรียนรู้รับวันเด็ก  

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม “อว For Kids” โดยเปิดบ้านซินโครตรอนรับวันเด็กแห่งชาติ ให้เยาวชนได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการแสงซินโครตรอนขนาดใหญ่ พร้อมกิจกรรมฐานทดลองทางวิทยาศาสตร์ เช่น การใช้กล้องถ่ายภาพความร้อน การส่องกล้องจุลทรรศน์ดูซากสิ่งมีชีวิตชนิดขนาดเล็กและเซลล์พืช กิจกรรม D.I.Y. ประดิษฐ์ของเล่นวิทยาศาสตร์ เช่น ฐานเก็บรุ้งใส่กระป๋อง ฐานประดิษฐ์กล้องสลับลาย รวมถึงเปิดพื้นที่ให้ระบายสีตามจินตนาการบนกำแพงยักษ์ และประกอบตัวต่อแม่เหล็ก 



นครราชสีมา – ดร.ศรายุทธ ตั้นมี หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “สถาบันฯ ได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “อว For Kids” ที่จัดขึ้นโดยกระทรวง อว. โดยสถาบันฯ ได้จัดกิจกรรม เปิดบ้านซินโครตรอนรับวันเด็กแห่งชาติ Synchrotron Open House ระหว่างวันที่ 10-11 มกราคม 2568 ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จ.นครราชสีมา ซึ่งมีเพียงครั้งเดียวในรอบปีที่เปิดโอกาสให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 16 ปี เข้าเยี่ยมชม ห้องปฏิบัติการและเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนได้ 



นอกจากนี้สถาบันฯ ยังจัดกิจกรรมเสริมความรู้ ให้แก่เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมเปิดบ้านในครั้งนี้ ได้แก่ กิจกรรมฐานทดลองทางวิทยาศาสตร์ เช่น การใช้กล้องถ่ายภาพความร้อน การส่องกล้องจุลทรรศน์ดูซากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กและเซลล์พืชที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น กิจกรรม D.I.Y. ประดิษฐ์ของเล่นวิทยาศาสตร์ เช่น ฐานเก็บรุ้งใส่กระป๋อง ซึ่งเป็นฐานประดิษฐ์อุปกรณ์คัดแยกแสงธรรมชาติให้กลายเป็นแสงรุ้งในกระป๋อง ฐานประดิษฐ์กล้องสลับลาย ซึ่งเป็นฐานประดิษฐ์กล้องที่มีลวดลายสลับไปสลับมาจากหลักการสะท้อนของแสง และมีกิจกรรม Science Show ที่สาธิตการทดลองไฟฟ้าสถิตย์ การทำฟองสบู่ยักษ์จากสารเคมีใกล้ตัว และการแสดงสร้างความตื่นตาตื่นใจด้วยไนโตรเจนเหลว รวมทั้งยังมีพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ระบายสีสันตามจินตนาการลงผืนผ้าบนกำแพงขนาดใหญ่ และฐานกิจกรรมประกอบตัวต่อแม่เหล็กสำหรับเด็กเล็กได้แสดงความคิดสร้างสรรค์” ดร.ศรายุทธ ตั้นมี กล่าว



สำหรับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนตั้งอยู่ที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งมีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นห้องปฏิบัติการแห่งชาติขนาดใหญ่ ที่ให้บริการแสงซินโครตรอนในการวิจัยและพัฒนาด้านต่างๆ เช่น การเกษตร อาหาร สิ่งแวดล้อม การแพทย์และสาธารณสุข วัสดุศาสตร์ พลังงาน โบราณคดี และผลิตภัณฑ์ในภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น และสถาบันฯ ยังมีโครงสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่ ระดับพลังงาน 3 GeV ภายในบริเวณเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) จ.ระยอง ต่อไปในอนาคต  


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"สมศักดิ์" เปิดตัวระบบส่งต่อออนไลน์ MOPH Refer เป็นของขวัญปีใหม่ ช่วยลดภาระและเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ป่วย

  "สมศักดิ์" เปิดตัวระบบส่งต่อออนไลน์ MOPH Refer เป็นของขวัญปีใหม่ ช่วยลดภาระและเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ป่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธา...